บริษัทแบรนด์สินค้าหรูชั้นนำกำลังให้ความสนใจประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางความหรูหราของเอเชีย ดังเห็นได้จากแบรนด์คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior) ที่สร้างสถาปัตยกรรมสุดโดดเด่น “ดิออร์ โกลด์ เฮาส์” (Dior Gold House) เป็นป๊อปอัปสโตร์ในย่านหรูของกรุงเทพฯ โดยจำลองภายนอกอาคารมาจากร้านสาขาหลักของแบรนด์คริสเตียน ดิออร์ บนถนน Avenue Montaigne ในกรุงปารีส
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ในขณะที่ยอดขายสินค้าแบรนด์หรูในจีนถดถอยลงอันเนื่องมาจากผู้บริโภครัดเข็มขัดท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา ผู้จำหน่ายสินค้าแบรนด์หรูระดับโลกหลายรายก็ได้เริ่มหันมาจับตามองประเทศไทย โดยภาพของสุภาพสตรีที่ถือกระเป๋าแอร์เมส (Hermes) ออกมารับประทานอาหารกลางวัน และรถซูเปอร์คาร์ที่จอดอยู่หน้าห้างหรู ได้กลายเป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ด้วยปัจจัยหนุนจากกลุ่มคนรวยในไทย และจากการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่ร่ำรวยจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และที่อื่น ๆ
โจนาธาน ซิโบนี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทที่ปรึกษา ลักซ์ชูรินไซต์ (Luxurynsight) ในปารีส กล่าวว่า “ขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางสินค้าหรูที่สำคัญ”
ข้อมูลจาก Luxurynsight เผยให้ว่า ในบรรดาร้านแบรนด์เนมต่างชาติ 26 แห่งที่เข้ามาเปิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมานั้น ไทยคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดถึง 11 แห่ง
คริสทีน ลี หัวหน้าฝ่ายวิจัยเอเชียแปซิฟิกของบริษัทไนท์แฟรงค์ (Knight Frank LLP) เปิดเผยข้อมูลว่า ภายในปี 2570 คาดว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีบุคคลที่มีความมั่งคั่งสูง หรือผู้ที่มีสินทรัพย์ 1 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป จำนวน 1.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 890,000 คนในปี 2565 และล่าสุดในเดือนนี้ คณะรัฐมนตรีไทยได้แก้ไขกฎระเบียบด้านวีซ่า ซึ่งทำให้ใบอนุญาตพำนักระยะยาวมีความน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่มีทักษะ นักลงทุน และชาวต่างชาติที่มีความมั่งคั่ง
กรุงเทพฯ มีทำเลเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยอยู่ห่างจากเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เกินสี่ชั่วโมงบิน ขณะที่ข้อมูลจากทางการไทยระบุว่า ไทยต้อนรับนักเดินทางกว่า 10 ล้านคนจากภูมิภาคเอเชียในปี 2567 เพิ่มขึ้น 8.5% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากโครงการฟรีวีซ่า นักท่องเที่ยวจากอินเดียเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 31% สู่ระดับประมาณ 2.1 ล้านคน ขณะที่นักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางเพิ่มขึ้นเกือบ 24% สู่ระดับกว่า 742,000 คน ซึ่งช่วยชดเชยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ยังต่ำกว่าระดับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 และเมื่อพิจารณาจากภาพรวมแล้ว คาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 40 ล้านคนในปีนี้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 35.5 ล้านคนในปี 2567
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางแห่งความหวังสำหรับบริษัทชั้นนำ เช่น แอลวีเอ็มเอช โมเอต์ เฮนเนสซี่ หลุยส์ วิตตอง (LVMH Moet Hennessy Louis Vuitton) ท่ามกลางการใช้จ่ายที่ซบเซาจนส่งผลกระทบต่อบรรดาผู้ค้าปลีกในประเทศจีน โดยบริษัทต่าง ๆ เช่น เคอริง (Kering SA) และเบอร์เบอรี่ กรุ๊ป (Burberry Group) ต้องหาทางออกด้วยการให้ส่วนลดมากถึง 50% เพื่อระบายสต๊อกสินค้าในจีน เนื่องจากเศรษฐกิจจีนยังคงฟื้นตัวอย่างยากลำบากจากวิกฤตตลาดที่อยู่อาศัย ในขณะที่ผู้บริโภครุ่นใหม่ของจีนหันไปใช้จ่ายเงินกับการซื้อประสบการณ์มากกว่าสินค้าแบรนด์เนมที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของสถานะทางสังคม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 68)
Tags: สินค้าหรู, สินค้าแบรนด์เนม