KTB จับตาผลกระทบนโยบายทรัมป์ พร้อมหนุนภาคธุรกิจรับมือฝ่าความท้าทาย

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า ปีนี้ถือเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับภาคธุรกิจ โดยภาคการเงินเผชิญกับความท้าทายจากการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำ และความเสี่ยงด้านหนี้เสีย ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเปราะบาง และผู้ที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ธนาคารต้องให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง และร่วมกับภาครัฐในการออกมาตรการเพิ่มเติม เช่น โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ที่เป็นมาตรการเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้

ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงมีความท้าทายจากความไม่แน่นอน และความผันผวนจากนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่สามารถคาดเดากับนโยบายต่าง ๆ ที่จะออกมาได้ ทำให้สถานการณ์หลังจากนี้จะมีความไม่แน่นอนสูง ภาคธุรกิจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรองรับกับปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่จะเข้ามา

นายผยง กล่าวว่า สิ่งที่จะต้องจับตาหลังจากนี้ หากสหรัฐฯ มีการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงกับจีน อาจทำให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว เพราะจะมีสินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยมากขึ้น ทำให้เป็นปัจจัยท้าทายที่ภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ SME จะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์

ขณะที่ภาคธนาคารเองก็มีการให้คำปรึกษาและช่วยเหลือลูกค้าในการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการช่วยเหลือในการวางแผนธุรกิจ การหาตลาดใหม่ และการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินธุรกิจไปต่อได้ ท่ามกลางความท้าทายที่กำลังเข้ามา จากปัจจัยความไม่แน่นอน โดยที่สิ่งที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ นอกจากแผนธุรกิจและกลยุทธ์แล้ว ภาคธุรกิจจะต้องเตรียมความพร้อมของสภาพคล่องในการรองรับการดำเนินธุรกิจให้ไปต่อได้ รวมถึงการปรับตัวธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจให้มีการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ

นายผยง ยังกล่าวถึงผลการดำเนินงานของภาคธนาคาร ในมุมมองของนักลงทุนยังสะท้อนถึงความเปราะบาง โดย P/B Ratio อยู่ที่ 0.7 ซึ่งยังคงต่ำกว่า 1 ต่อเนื่อง รวมทั้งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ที่ 1.4 และต่ำกว่าธนาคารในภูมิภาคอื่น ๆ อย่างมาก และภาพที่คล้ายกันคือ ประมาณ 60% ของจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนทั้งหมดใน SET มี P/B Ratio ต่ำกว่า 1 เช่นกัน

ส่วนแนวโน้มดอกเบี้ย มองว่าจากความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น และความเสี่ยงของเงินเฟ้อที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นได้ จากมาตรการกีดกันทางการค้า ทำให้โอกาสที่จะเห็นการปรับดอกเบี้ยลงมากนั้น มีโอกาสน้อย แต่มองว่าการลดดอกเบี้ยลง 0.25-0.50% ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ แต่ก็จะต้องดูความสอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 68)

Tags: ,