ไต้หวันประหารชีวิตนักโทษครั้งแรกในรอบ 5 ปี ขณะ EU-กลุ่มสิทธิมนุษยชนออกโรงค้าน

ไต้หวันดำเนินการประหารชีวิตนักโทษเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีในวันพฤหัสบดี (16 ม.ค.) ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับทั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลไต้หวันระงับการลงโทษด้วยการประหารชีวิตไว้ต่อไป

แม้ไว้ไต้หวันจะมีชื่อเสียงในฐานะประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยมที่สุดในเอเชีย แต่โพลสำรวจความคิดเห็นพบว่า โทษประหารชีวิตยังคงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง แม้ว่ามีการประหารชีวิตนักโทษน้อยมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอาชญากรรมรุนแรงในไต้หวันค่อนข้างต่ำก็ตาม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในเดือนก.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันได้ตัดสินว่า โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ให้ใช้ได้เฉพาะกับอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดเท่านั้น โดยจะต้องมีการสอบสวนทางกฎหมายอย่างเข้มงวด หลังจากพิจารณาคำร้องของผู้ต้องโทษประหารชีวิต 37 คนในขณะนั้น

กระทรวงยุติธรรมไต้หวันระบุในแถลงการณ์ว่า หวง หลิน-ไค ได้ถูกประหารชีวิตที่ศูนย์กักขังไทเป หลังจากถูกตัดสินประหารชีวิตในปี 2560 ในข้อหาฆาตกรรมอดีตแฟนสาวและแม่ของแฟนสาวเมื่อปี 2556 นอกจากนี้ เขายังได้ข่มขืนอดีตแฟนสาวของตัวเองด้วย

กระทรวงยุติธรรมระบุว่า การประหารชีวิตหวงนั้นสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในเดือนก.ย. และการกระทำของเขานั้นไร้มนุษยธรรมและโหดร้ายอย่างมาก

ด้านสำนักงานทูตของ EU เปิดเผยเกี่ยวกับการประหารชีวิตดังกล่าวว่า EU เรียกร้องให้ไต้หวันดำเนินการและรักษานโยบายการหยุดใช้โทษประหารชีวิตไว้ต่อไป และดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับการยกเลิกโทษประหารชีวิตในไต้หวัน โดยเน้นย้ำถึงการคัดค้านอย่างจริงจังต่อการลงโทษด้วยการประหารชีวิต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ม.ค. 68)

Tags: , ,