ก.ล.ต.ไม่คิดยกเลิก Short sell มองยังจำเป็นแต่อาจมีมาตรการเสริม เล็งวัดผล-ทบทวน Uptick rule

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ไม่มีแนวคิดยกเลิกการอนญาตให้ทำธุรกรรม Short sell เพราะมองว่ายังมีความจำเป็นต่อตลาดหุ้นไทย แต่อาจจะต้องมีมาตรการเสริมตามความเหมาะสม ขณะที่จะประเมินประสิทธิของการใช้เกณฑ์Uptick rule แต่ก็ยอมรับส่วนหนึ่งทำให้มูลค่าการซื้อขายของตลาดหดหายไป

การทบทวน Uptick rule จะเป็นหนึ่งในมาตรการที่ได้มอบหมายให้ Third Party เข้ามาศึกษาภาพรวมและประเมินผลทุกมาตรการ เพื่อวัดความสัมฤทธิ์ผล และความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ในปี 67 ที่ผ่านมา ก.ล.ต. และตลท. ได้ออกมาตรการเพื่อกำกับดูแลตลาดทุน อาทิ มาตรการดูแล Short Sell และ Program Trading ซึ่งหลังจากมีการบังคับใช้ทำให้สัดส่วนธุรกรรม Short Sell ลดลง เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวเริ่มเห็นผลสำเร็จ ซึ่ง 6 เดือนภายหลังจากการออกมาตรการจะต้องประเมินผลของมาตรการนั้น ๆ ถ้ามีช่องในการพัฒนาเพิ่มเติมได้ก็จะมีการออกมาตรการเพิ่ม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเริ่มศึกษาและประเมินผลโดยบุคคลภายนอก (Third Party) คาดว่าภายในไตรมาส 1/68 จะมีความชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ การประเมินผลมาตรการดูแล Short Sell ต้องพิจารณาหลายด้าน ซึ่งปัจจุบันยังมีความจำเป็นในการทำ Short Sell โดยมองว่า Short Sell เป็นเครื่องมือสำคัญต่อกลไกตลาด ทุกประเทศก็มีใช้ เพียงแต่บางประเทศอาจให้หยุด Short Sell ชั่วคราวจากเหตุผลของประเทศนั้น ๆ ขณะที่เกณฑ์ Uptick Rule แน่นอนว่าจะกระทบกับวอลุ่มบ้าง แต่ต้องเลือกใช้มาตรการให้เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์

“มาตรการทุกมาตรการต้องประเมินว่าสัมฤทธิผลหรือไม่ ถ้าสัมฤทธิผลดีก็ใช้ต่อ แต่ถ้าสัมฤทธิผลแต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้ ก็สามารถยกเลิกกฎเกณฑ์ได้ ไม่ได้พูดถึง Uptick Rule อย่างเดียว ทุกมาตรการต้องดูจังหวะเวลา” นายอเนก กล่าว

นายเอนก ยังกล่าวถึงกรณีหุ้นถูก Force Sell จากการที่ผู้บริหารนำหุ้นไปจำนำ ทำให้นักลงทุนเกิดความเสียหายว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการเร่งรัดศึกษามาตรการเสริมเพิ่มเติมในการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้นักลงทุนได้พิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุน จากเดิมคาดได้ข้อสรุปในเดือนธ.ค. 67 ที่ผ่านมา แต่ต้องพิจารณาข้อมูลหลายด้าน โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1/68 แต่คงยังไม่ได้ข้อบังคับใช้ทันที

“ความยากคือต้องพิจารณาในการใช้ข้อกฎหมายใดเพื่อกำหนดเกณฑ์ ลักษณะการทำธุรกรรมเท่าใดจึงจะเหมาะสม ต้องคำนึงกฎหมายอื่น ๆ เชื่อว่ามีการเร่งรัดกันอยู่ น่าจะมีข้อมูลสรุปเพิ่มเติมเร็วๆนี้ เพราะประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทุกคนให้ความสำคัญแม้กระทั่งภายในต้องเร่งทำ”นายอเนก กล่าว

ส่วนประเด็นที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าหากจำนำหุ้นเกิน Trigger point ต้องมีการรายงาน นายเอนก ระบุว่าความยากคือการกำหนดเกณฑ์อย่างเหมาะสม ขนาดจำนำหุ้นเท่าไรจึงจำเป็นต้องรายงาน ความถี่ในการรายงาน ไม่ให้เป็นภาระจนเกินควร ทำให้ข้อสรุปในการกำหนดเกณฑ์ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ ก.ล.ต.ยังต้องศึกษาค้นคว้า หลักคิดต่าง ๆ อย่างรอบคอบก่อนจะออกเกณฑ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ประเด็นการนำหุ้นไปจำนำนอกตลาดซึ่งทำให้ไม่มีข้อมูลในระบบ ยังเป็นปัญหาที่ก.ล.ต.ต้องเข้าไปเร่งแก้ไข

ก.ล.ต.มองว่า ผู้ถือหุ้นมีสิทธินำหุ้นไปจำนำ อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาความเสี่ยงด้วย หากมีการนำหุ้นไปจำนำในต่างประเทศ การบังคับใช้กฎหมายหากมีความเสี่ยงจะเป็นไปได้ยาก หน้าที่ของ ก.ล.ต. ต้องให้ความรู้ สร้างการตระหนักรู้ให้ระมัดระวังในการลงทุน

นอกจากนี้ จากประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และก.ล.ต. ที่ล่าช้านั้น ในส่วนของก.ล.ต. ได้รับฟังถึงความไม่สบายใจในประเด็นดังกล่าวมาตลอด ซึ่งยอมรับว่าในการขับเคลื่อนบางประเด็นอาจล่าช้าไม่ทันใจบ้าง ต้องดูว่าความล่าช้าเกิดจากอะไร ถ้าก.ล.ต. สามารถปรับปรุงกระบวนการ เร่งรัดให้รวดเร็วขึ้นได้ ก็จะมีการปรับปรุงต่อเนื่อง แต่บางกระบวนการ เช่นการบังคับใช้กฎหมายที่ต้องขอข้อมูลจากต่างประเทศ ก.ล.ต. อาจไม่สามารถเร่งรัดได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 68)

Tags: , ,