รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (10 ม.ค.) ว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนญี่ปุ่นปรับตัวลงในเดือนพ.ย. 2567 เนื่องจากผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายเพราะราคาสินค้ายังคงอยู่ในระดับสูง
ข้อมูลจากกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นระบุว่า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลง 0.4% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ยังดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.6% อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับเดือนต.ค. และปรับค่าตามฤดูกาลแล้ว การใช้จ่ายภาคครัวเรือนกลับเพิ่มขึ้น 0.4% สวนทางกับที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 0.9%
รายงานระบุว่า ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายในหมวดอาหาร เสื้อผ้า และความบันเทิง แต่เพิ่มการใช้จ่ายด้านการศึกษาและที่อยู่อาศัย
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แนวโน้มการบริโภคและค่าจ้างเป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ใช้พิจารณาในการประเมินความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ด้านข้อมูลค่าจ้างเดือนพ.ย. ที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (9 ม.ค.) บ่งชี้ว่า ค่าจ้างที่แท้จริง (ปรับตามอัตราเงินเฟ้อ) ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น แม้ว่าอัตราการเติบโตของค่าตอบแทนพื้นฐานจะสูงที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษก็ตาม
เมื่อปีที่แล้ว BOJ ได้ยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 0.25% ขณะที่นักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ว่า BOJ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 23-24 ม.ค.นี้ แต่บางส่วนคาดการณ์ว่ามีโอกาสสูงกว่าที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ม.ค. 68)
Tags: ญี่ปุ่น, ภาคครัวเรือน