สรรพากร เชื่อจัดเก็บรายได้ปีงบ 68 ตามเป้า แนวโน้มศก.ดี-การบริโภคเพิ่ม มุ่งดึงขายของออนไลน์เข้าระบบ

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของกรมฯ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค.-ธ.ค.67) สามารถจัดเก็บรายได้ รวมแล้ว 4.7 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการเกือบ 4 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มขึ้น 12% เฉลี่ยเดือนละ 5 พันล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2568 (ต.ค.67-เม.ย.68) จะเป็นไปตามเป้าหมาย

ขณะที่เป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร ในปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2568 ยังมีปัจจัยที่ท้าทายอย่างหลาย โดยเฉพาะการยื่นแบบของนิติบุคคลรอบครึ่งปี ซึ่งจะเป็นการยื่นแบบตามผลประกอบการในครึ่งปีที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจในช่วงนั้นยังไม่สามารถขยายตัวได้มากนัก ดังนั้น อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจ และส่งผลต่อการชำระภาษีด้วย

นายปิ่นสาย กล่าวว่า ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.68 เป็นช่วงของการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรมสรรพากร ขอเชิญชวนให้ผู้มีรายได้เข้ามายื่นแบบ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ (เงินเดือน) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น กลุ่มค้าขายแบบซื้อมาขายไป การค้าขายแบบออนไลน์ กลุ่มอินฟูลเอนเซอร์ เพราะหากตรวจพบว่าไม่มายื่นแบบชำระภาษีเงินได้ จะต้องจ่ายค่าปรับเงินเพิ่มตามกฎหมาย

“ปีนี้ กรมฯ จะมุ่งเน้นขยายฐานภาษีไปยังกลุ่มธุรกิจออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลในกลุ่มนี้ จะส่งต่อให้ฝ่ายจัดเก็บไปให้ความรู้ ดังนั้น กรมฯ จึงขอแนะนำให้ผู้ที่มีเงินได้ ไม่ใช่แค่เงินเดือน แต่รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ขาย การขายของออนไลน์ หรืออินฟูลเอนเซอร์ ยื่นแบบแสดงภาษีไว้ก่อน หากตรวจเจอภายหลัง จะโดนปรับหนัก ทั้งโทษปรับ 2 เท่าของภาษี และยังมีโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี ดังนั้น หากไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไร สามารถมาขอคำแนะนำจากกรมสรรพากรเขตพื้นที่ได้” นายปิ่นสาย กล่าว

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สำหรับในปีภาษี 2566 มีประชาชนยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ราว 11 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ขอคืนภาษี 4 ล้านคน ส่วนอีกเกือบ 7 ล้านคนต้องเสียเพิ่ม หรือเสียเท่าเดิม คิดเป็นวงเงินในการขอคืนภาษีกว่า 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับกรณีกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) ที่หมดอายุภาษีเมื่อปี 2567 นั้น ขณะนี้ยังอยู่ในการพิจารณาว่าจะต่ออายุหรือไม่ ซึ่งจะต้องมาดูว่าหากมีการต่ออายุ จะต่อออกไปอีกกี่ปี จากกองทุนเดิมที่ต้องถือครองยาวไปถึง 10 ปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 68)

Tags: , , , ,