จับตาความท้าทายธุรกิจโลจิสติกส์ท่ามกลางแข่งขันสูง-ส่องเทรนด์มาแรง Green Logistics-LogTech

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มสูงขึ้น จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวชะลอลง และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มาพร้อมกับการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงขึ้น โดยในปี 67 รายได้ผู้ให้บริการโลจิสติกส์มีแนวโน้มขยายตัว 5.1%YOY ตามการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และอัตราค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์โลกที่ปรับเพิ่มขึ้นจากวิกฤตทะเลแดง

ส่วนในปี 68 รายได้ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์คาดว่า จะเติบโตชะลอตัวอยู่ที่ 3.4%YOY และมีมูลค่าอยู่ที่ 9 แสนล้านบาท จากความต้องการขนส่งที่ขยายตัวลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มาพร้อมกับการกีดกันทางการค้าที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคภายในประเทศที่เติบโตช้าลง

ในส่วนของอัตราค่าขนส่งเฉลี่ยในปี 68 มีแนวโน้มใกล้เคียงปี 67 แต่จะมีโอกาสผันผวนมากขึ้น โดยค่าขนส่งทางถนนในประเทศ กับค่าขนส่งทางอากาศโลกเฉลี่ยทั้งปีมีแนวโน้มทรงตัว ขณะที่ค่าขนส่งทางเรือโลกคาดว่าจะลดลง ส่วนราคาน้ำมันดิบโลกเฉลี่ยมีแนวโน้มปรับลดลดลง ซึ่งด้านหนึ่งส่งผลดีต่อต้นทุน แต่อีกด้านหนึ่งจะทำให้โอกาสในการปรับลดค่าขนส่งทำได้จ่ายขึ้น เพื่อการแข่งขันดึงดูดผู้ใช้บริการ

เทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์มาแรง

1. เทรนด์โลจิสติกส์สีเขียว (Green logistics) ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และทำให้ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในไทยได้เริ่มให้บริการ Green logistics กันมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนในหลายด้าน เช่น แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ พ.ศ.2564-2573 ภาคคมนาคมขนส่ง, กระแสรักษ์โลก, ปัญหาฝุ่นมลพิษ และแผนการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net zero) ซึ่งจะช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของทั้งผู้ประกอบการขนส่งจากการลดโดยตรงในขอบเขตที่ 1 พร้อมกับช่วยลดทางอ้อมแก่ผู้ประกอบการในธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้การขนส่งภายใต้ขอบเขตที่ 3

ทั้งนี้ การให้บริการ Green logistics ครอบคลุมตั้งแต่การลดการใช้พลังงาน, การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, การใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicles: ZEVs), การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การใช้พลังงานสะอาดในคลังสินค้ากับศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น

โดยปัจจุบัน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับการขนส่งสินค้าเพื่อการพาณิชย์เริ่มเป็นที่ต้องการในตลาดมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายในอีกหลายด้าน ที่จะทำให้เกิดการใช้งานแพร่หลายและเป็นไปได้ในทางธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีรถบรรทุก ซึ่งยังไม่เหมาะสมกับการขนส่งในบางรูปแบบ เช่น ระยะทางไกล, ชั่วโมงการใช้งานต่อวันสูง และน้ำหนักบรรทุกมาก รวมถึงสถานีชาร์จสำหรับรถไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ ที่ยังมีค่อนข้างจำกัดและอยู่ระหว่างการพัฒนา

2. เทรนด์ LogTech (Logistics technology) ซึ่งกำลังเข้ามามีบทบาทต่อภาคขนส่งสินค้าในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การใช้ GPS ติดตามการขนส่ง, แพลตฟอร์มเรียกรถขนส่งสินค้า, แพลตฟอร์มรับจัดการขนส่งสินค้า, การใช้ AI บริหารจัดการ Supply chain เช่น การวางแผนเส้นทางการขนส่งและการ พยากรณ์ความต้องการในอนาคตกับการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์, คลังสินค้าอัตโนมัติ, การใช้หุ่นยนต์และโดรนในการขนส่ง จนถึงการขับขี่อัตโนมัติในอนาคต โดยเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีส่วนช่วยยกระดับการบริหารจัดการโลจิสติกส์ให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และโปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมกับช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการขนส่งด้วย

แนวโน้มแข่งขันสูงต่อเนื่อง

SCB EIC มองว่า การแข่งขันของธุรกิจในระยะข้างหน้าจะยังสูงต่อเนื่อง โดยแนวโน้มการแข่งขันของธุรกิจคาดว่าจะเน้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่

1. การขยายบริการโลจิสติกส์ที่ทับซ้อนกันมากขึ้น จากการที่ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ต่างมุ่งพัฒนาสู่การเป็น Total logistics provider จึงพยายามขยายบริการ์โลจิสติกส์ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น การขยายการให้บริการขนส่งสินค้าหรือการรับจัดการขนส่งสินค้าในประเภทการขนส่งที่หลากหลายทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ และขยายไปยังกลุ่มสินค้าที่หลากหลายด้วย เช่น สินค้าทั่วไป พัสดุสินค้า สินค้าวัตถุอันตราย และสินค้าควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงการขยายไปยังการให้บริการเช่าคลังสินค้าและศูนย์บริการคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (Fulfillment) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านราคาเพิ่มมากขึ้น โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยม คือการสร้างหุ้นส่วนทางธุรกิจกับการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) ซึ่งจะทำให้การขยายเครือข่ายทำได้รวดเร็ว และสามารถลดต้นทุนจากการประหยัดต่อขนาดและลดการแข่งขันได้อีกด้วย

2. การแข่งขันด้านคุณภาพในการขนส่ง โดยปัญหาการกีดกันทางการค้าที่มีแนวโน้มเข้มงวดขึ้นในปี 68 ตามนโยบาย Trump 2.0 ประกอบกับความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อยู่ในระดับสูง จะสร้างความไม่แน่นอนต่อธุรกิจโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็นด้านประเภทสินค้า เส้นทางขนส่ง และยานพาหนะที่ใช้ขนส่ง ดังนั้น ความเชี่ยวชาญในการขนส่งกับบริการที่ครอบคลุมของผู้ขนส่ง จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเลือกผู้ให้บริการของผู้ใช้บริการขนส่งในภาวะความไม่แน่นอนสูง

3. การแข่งขันในธุรกิจจัดส่งพัสดุที่รุนแรงต่อเนื่อง จากสภาพตลาดทะเลแดง (Red ocean) ที่แข่งขันดุเดือดของผู้ให้บริการรายใหญ่มากกว่า 6 ราย ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงส่งผลให้การแข่งขันในปี 68 จะเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งในด้านราคาและคุณภาพบริการ โดยการเป็นพันธมิตรกับแพลตฟอร์ม E-Commerce และ Social commerce ที่กำลังได้รับความนิยม จะเป็นจุดแข็งสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้รายได้ผู้จัดส่งพัสดุเติบโตได้ดีกว่าคู่แข่ง

ทั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตและการแข่งขันในตลาดโลจิสติกส์ ทำให้คาดว่ากลุ่มธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนนกับกลุ่มธุรกิจ Freight forwarder ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยจะต้องพิจารณาความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการโลจิสติกส์ควบคู่ไปด้วย ส่วนกลุ่มผู้ให้บริการจัดส่งพัสดุยังจะต้องจับตาการแข่งขันอย่างใกล้ชิด

3 ประเด็นหลักที่ท้าทายธุรกิจโลจิสติกส์ในปี 68 และในระยะถัดไป ได้แก่
  • ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอตัวและเผชิญความเสี่ยงในหลายด้าน เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, การกีดกันทางการค้า, เศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวลดลง, หนี้สาธารณะสูงขึ้นทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการขนส่งสินค้าชะลอตัวเส้นทางขนส่งถูกปรับเปลี่ยน และอัตราค่าขนส่งผันผวน
  • การเปลี่ยนผ่านสู่การขนส่งคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการและยานพาหนะที่ใช้บริการเพื่อตอบสนองกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและแผนการลดคาร์บอน โดยผู้ให้บริการขนส่งทางถนนจะต้องทยอยปรับฝูงยานพาหนะ (Fleet vehicle) ด้วยการใช้รถขนส่งไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งรถจักรยานยนต์, รถกระบะ, รถบรรทุก 4 ล้อ, รถบรรทุก 6 ล้อ, รถบรรทุก 10 ล้อ และรถหัวลาก แต่ต้องขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ปัจจุบันยังเหมาะกับการใช้งานบางประเภท ส่วนผู้ให้บริการขนส่งทางทะเลและทางอากาศจะต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน เช่น น้ำมันไบโอดีเซลกับเชื้อเพลิงกรีนเมทานอลสำหรับการขนส่งทางทะเล และน้ำมันอากาศยั่งยืนสำหรับการขนส่งทางอากาศ
  • เทคโนโลยี AI ด้านการขนส่ง จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการรับจัดการขนส่งสินค้าด้วยความสามารถในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเส้นทางขนส่ง อย่างเช่น สภาพอากาศกับสภาพจราจร และข้อมูลอัตราคำขนส่ง พร้อมทั้งเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ว่าจ้างขนส่ง จึงทำให้การขนส่งมีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 ม.ค. 68)

Tags: , , ,