ก.ล.ต.ย้ำเตือนหน้าที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าให้ปลอดภัย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ในการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดย ก.ล.ต. ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในหลายมิติเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า และทรัพย์สินของลูกค้าที่ฝากไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล มีการเก็บรักษาไว้ในระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัย

หน้าที่ตามกฎหมายของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 (พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ) ได้กำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าต้อง

– จัดทำบัญชีทรัพย์สินของลูกค้าแยกแต่ละราย

– เก็บรักษาทรัพย์สินแยกออกจากทรัพย์สินของบริษัทโดยไม่อาจนำไปใช้เพื่อการอื่นใดได้

อีกทั้ง ยังกำหนดให้ทรัพย์สินของลูกค้าที่อยู่ในบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงเป็นทรัพย์สินของลูกค้า อันเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งเน้นให้ทรัพย์สินของลูกค้าได้รับความคุ้มครอง

การเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าอย่างเหมาะสม

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก.ล.ต. ยังกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อทำให้มั่นใจว่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้ามีการจัดเก็บไว้อย่างเหมาะสม โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าส่วนใหญ่ไว้ใน cold wallet และผู้ให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล (third-party custodian) ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ สำหรับส่วนที่เหลือให้จัดเก็บไว้ใน hot wallet ในสัดส่วนที่เหมาะสมและเพียงพอการให้บริการแก่ลูกค้า

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปฝากไว้กับผู้ให้บริการอื่น และต้องเปิดเผยข้อมูลและแจ้งความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการฝากทรัพย์สินดังกล่าวให้ลูกค้าทราบ โดยผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่อาจเกิดจากการสูญหายหรือเสียหายจากการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องดำรงเงินกองทุน เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้า (custody risk) ที่อาจเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าอย่างเพียงพอด้วย โดย ก.ล.ต. ได้มีการติดตามการดำรงสัดส่วนการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นรายวัน

การติดตามตรวจสอบข้อมูลสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า

ก.ล.ต. มีการติดตามข้อมูลการประกอบธุรกิจ (off-site monitoring) ผ่านระบบการนำส่งข้อมูล ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีหน้าที่นำส่งให้ ก.ล.ต. เป็นรายวัน โดยข้อมูลดังกล่าวรวมถึงข้อมูลปริมาณสินทรัพย์ดิจิทัลคงเหลือของผู้ลงทุน (outstanding customer wallet) และบัญชีเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (business wallet data) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจำนวนและประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อีกทั้ง ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีระบบการจัดการและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้ถูกต้อง ครบถ้วน ตรวจสอบได้ และปลอดภัย ซึ่งรวมถึงข้อมูลจำนวนสินทรัพย์ดิจิทัลและแหล่งจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลโดยให้จำแนกข้อมูลของสินทรัพย์ดิจิทัลแต่ละเหรียญเพื่อใช้ในการสอบทานข้อมูลทรัพย์สินของลูกค้า โดยต้องจัดเก็บในลักษณะที่พร้อมให้ ก.ล.ต. เรียกดูหรือตรวจสอบได้ทันที

ทั้งนี้ ในกรณีที่พบความผิดปกติจากข้อมูลที่ได้รับ นอกเหนือจากการติดตามผ่าน off-site monitoring ก.ล.ต. อาจเข้าตรวจสอบ (on-site monitoring) ณ ที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นรายกรณี เพื่อทำการสอบทานและตรวจสอบการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าเพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินของลูกค้าจะไม่ถูกนำไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ของลูกค้า

มาตรการเพื่อความปลอดภัยในการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าเพิ่มเติม

นอกเหนือจากการปฏิบัติตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังสามารถดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเพิ่มความคุ้มครองและความโปร่งใสในการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า เช่น การใช้ Proof of Reserves ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่ง Proof of Reserves คือการเปิดเผยปริมาณ และมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่ผู้ให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเก็บรักษาไว้ในบัญชีเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล (wallet address) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส (transparency) ของระบบการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

ทั้งนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้า การกำหนดหน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลต่อลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล การติดตามข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านแบบรายงานต่าง ๆ และการเข้าตรวจสอบเมื่อพบความผิดปกติ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ ก.ล.ต. ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและมุ่งมั่น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความน่าเชื่อถือ และมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้ลงทุนและการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน อันเป็นการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ม.ค. 68)

Tags: ,