ราคาทองคำปี 68 ลุ้นวิ่งขึ้นสู่เป้า 3,000 เหรียญฯ แบงก์กลางยังซื้อต่อ-นโยบายกลุ่ม BRICS หนุน

วายแอลจีชี้ทองคำปี 68 ยังไปได้ต่อ ให้เป้าหมาย 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ทองคำในประเทศเป้าหมาย 50,000 บาท/บาททองคำ แม้ระหว่างทางอาจะมีแรงขายทำกำไร เปิด 4 ปัจจัยหนุนแข็งแกร่ง 1. กลุ่ม BRICS เตรียมใช้สกุลเงินดิจิทัลที่มีทองคำหนุนหลัง 2. ธนาคารกลางซื้อทองคำต่อเนื่อง 3. ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ 4. นโยบายดอกเบี้ยขาลง

นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (YLG) กล่าวว่า ปี 67 ถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของทองคำหลายด้าน ทั้งการขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่ 2,790 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ คิดเป็นการเปลี่ยนแปลงจากต้นปีถึงราคาสูงสุดกว่า 35% ขณะเดียวกันก็สร้างประวัติศาสตร์ใหม่ในการทรงตัวอยู่ระดับสูงตลอดปีแม้ว่าช่วง 3 ไตรมาสแรก อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะทรงตัวในระดับสูง ทำให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีความต้องการในทุกภาวะตลาด

อย่างไรก็ดี ในปี 68 แม้ว่าเปิดต้นปีมาราคาทองคำจะถือว่าทรงตัวในระดับสูง แต่มองว่าจะเป็นอีกหนึ่งปีที่ทิศทางยังอยู่ในขาขึ้น แม้ระหว่างทางจะมีแรงเทขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่ภาพรวมยังไปได้ โดย YLG ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ระดับเดิมคือ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือคิดเป็นราคาทองคำไทย 96.5% มีโอกาสขึ้นแตะระดับ 50,000 บาท/บาททองคำ (หากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่โซน 35.10-35.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากมองว่าในปี 68 ปัจจัยบวกที่เคยสนับสนุนทองคำในปี 67 จะยังคงอยู่หลายปัจจัย และมีบางปัจจัยจะมีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบด้วย

1. นโยบายทางด้านการเงินของกลุ่ม BRICS ที่เกิดกระแสว่าอยู่ระหว่างการเตรียมออกเงิน BRICS Currency Digital ที่มีทองคำหนุนหลัง เพื่อใช้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศสมาชิก ปัจจัยนี้เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบายกำแพงภาษีแก่ประเทศที่มีความขัดแย้งและประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ โดยเคยกล่าวไว้ว่าจะขึ้นภาษี 100% ในกลุ่ม BRICS หากพวกเขานำสกุลเงินที่ท้าทายอิทธิพลของดอลลาร์สหรัฐมาใช้ ดังนั้น จึงควรจับตาอย่างใกล้ชิดว่า หลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่งช่วงวันที่ 20 มกราคม 2568 แล้วจะยังแสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวเช่นเดิมหรือไม่

2. ธนาคารกลางประเทศต่างๆทั่วโลก ยังคงเดินหน้าซื้อทองคำเมื่อมีจังหวะที่เหมาะสม โดยปัจจัยนี้เกี่ยวเนื่องจากปัจจัยแรกที่ประเทศสมาชิก BRICS กำลังทำการสะสมทองคำอย่างต่อเนื่อง เช่น จีนที่กลับเข้าซื้อทองคำเมื่อปลายปี 67 หลังจากหยุดไปเมื่อกลางปี โดย ณ ปัจจุบัน กลุ่ม BRICS ได้ถือครองทองคำสะสม รวมกันกว่า 5,700 ตัน หรือ คิดเป็นกว่า 16% ของการถือครองในธนาคารกลางทั่วโลก นอกจากนี้ธนาคารกลางประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่สมาชิก BRICS ก็ยังคงเก็บสะสมทองคำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

3. ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ แม้ว่าโดนัลด์ ทรัมป์จะประกาศว่าจะยุติสงครามได้ตั้งแต่วันแรกที่ได้รับตำแหน่ง แต่ความกังวลของนักลงทุนทั่วโลกก็ยังคงมีอยู่ และยังให้น้ำหนักกับการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเช่นทองคำ เนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางนั้นยังตึงเครียดอยู่เป็นระยะๆ จากทั้งฝั่ง เลบานอนที่ได้เปิดเผยว่า เครื่องบินรบอิสราเอลได้โจมตีทางอากาศใส่ฝั่งตะวันออกของเลบานอน แม้อิสราเอล-เลบานอน จะเคยบรรลุข้อตกลงหยุดยิงไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ขณะที่ฝั่ง อิสราเอล-ฮามาส นั้นยังไม่สามารถบรรลุการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซาได้ โดยทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่าย ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้

4. ปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยเฟด โดยแม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่าเฟดจะมีนโยบายลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกมากแค่ไหน แต่หากอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลงก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นผลบวกต่อราคาทองคำ และหากนักลงทุนซึมซับต่อปัจจัยที่ตลาดกังวลว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยทั้งปี 68 ได้เหลือเพียง 0.50% ตามที่ปรากฎใน Dot Plot ไปหมดแล้ว หรือหากเกิดเห็นสัญญาณการอ่อนแอทางเศรษฐกิจ อันส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ยลงอีกครั้ง ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลบวกต่อราคาทองคำให้ปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,