กรณีที่เจ้าหนี้ บมจ.การบินไทย [THAI] 8 ราย ยื่นคัดค้านผลการประชุมเจ้าหนี้เพื้อพิจารณาคำขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมาต่อศาลล้มละลายกลาง ผลการประชุมมีมติเห็นชอบทั้ง 3 วาระ โดยวาระแรกลดมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ของหุ้น THAI เพื่อล้างขาดทุนสะสม เห็นชอบ 87% ต่อ 13% วาระที่สอง ให้บริษัทจ่ายเงินปันผลได้ เห็นชอบ 86%
และวาระที่ 3 ซึ่งเป็นวาระสำคัญที่กระทรวงการคลังขอเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 คน คือ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และนายพลจักร นิ่มวัฒนา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) วาระนี้ คะแนนออกมาก้ำกึ่ง คือ เห็นชอบ 50.4% และไม่เห็นชอบ 49.6%
ปัจจุบัน THAI มีผู้บริหารแผน 3 ราย ได้แก่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นประธาน, นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ปตท. [PTT] และนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สสค.) ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง
การประชุมในวันนั้นเจ้าหนี้หลายรายต่างทักท้วงและขอตีความสถานะเจ้าหนี้ของกระทรวงการคลัง เนื่องจากกระทรวงการคลังได้แปลงหนี้ของ THAI เป็นทุนทั้ง 100% เท่ากับว่าจะไม่มีสิทธิออกเสียงในฐานะเจ้าหนี้แล้ว
ก่อนหน้าจะมีการประชุมนายปิยสวัสดิ์ ได้ทำหนังสือถึงนายทะเบียนบริษัทมหาชนจำกัด คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.67 ขอให้ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของ THAI หลังการแปลงหนี้เป็นทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ แต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ได้ดำเนินการตามที่ร้องขอ
ในที่สุดก็มีเอกสารหลุดออกมาเป็นหนังสือที่ระบุว่าส่งมาจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปถึงอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ลงวันที่ 28 พ.ย.67 ใจความระบุว่า “สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอเรียนว่า กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ได้ทราบว่า บริษัทฯ ได้ยื่นขอจดทะเบียนแปลงหนี้เป็นทุนกับกระทรวงพาณิชย์แล้ว ซึ่งหากมีการแปลงหนี้เป็นทุนก่อนวันที่ 29 พ.ย.67 จะมีผลให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้เสียสิทธิในการลงมติออกเสียงในการพิจารณาต่าง ๆ สำหรับการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.67
ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทรวงการคลัง “เสียสิทธิ” ในการลงมติออกเสียงสำหรับการประชุมเจ้าหนี้ที่จะมีขึ้นในวันดังกล่าว จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณาการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้ว จากการแปลงหนี้เป็นทุนของบริษัทฯ ภายหลังการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.67 เพื่อให้เกิดความเหมาะสม และเป็นธรรมกับกระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัทฯต่อไป”
ขณะที่ผู้บริหารแผนฯ THAI ยืนยันว่าการแปลงหนี้เป็นทุนมีผลแล้วเมื่อผู้บริหารแผนฯ มีมติแปลงหนี้เป็นทุนของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา และได้แจ้งให้กระทรวงพาณิชย์จดทะเบียนทุนใหม่เมื่อ 26 พ.ย.67
ผลจากเจ้าหนี้โหวตผ่านการแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ทั้ง 3 วาระ โดยวาระ 3 ได้ส่งตัวแทนจากกระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ก็เหมือนส่งสัญญาณว่าการเมืองคงไม่ปล่อย “การบินไทย” ให้เป็นอิสระ แม้ว่าปัจจุบัน กระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้ถือหุ้นเกิน 51% แต่ก็ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 มีสิทธินั่งในกรรมการชุดใหม่มากสุด
ทั้งนี้ หลังการแปลงหนี้เป็นทุน และการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามแผนฟื้นฟูฯ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะถือหุ้น THAI สัดส่วน 42.94% ลดลงจาก 49.99% โดยกระทรวงการคลัง ถือ 38.90% จาก 47.86% หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถือ 4.04% จาก 2.13%
แม้ยังไม่รู้ว่าการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย.67 จะเป็น “โมฆะ” หรือไม่ เพราะต้องรอลุ้นศาลล้มละลายกลาง นัดฟังคำสั่งการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ในวันที่ 21 ม.ค.68 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของ THAI ช่วงวันที่ 6-12 ธ.ค. ที่ผ่านมา ปรากฎว่าขายไม่หมด เหลือเกือบครึ่ง โดยระดมเม็ดเงินได้เพียง 2.3 หมื่นล้านบาท จากที่คาดว่าหากขายหุ้นเพิ่มทุนได้ทั้งหมด 9,822 ล้านหุ้น ที่ราคา 4.48 บาท/หุ้น จะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามา 4.4 หมื่นล้านบาท เพราะผู้ถือหุ้นเดิมและนักลงทุน PP ขาดความเชื่อมั่น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ธ.ค. 67)
Tags: SCOOP, THAI, ZoomIn, การบินไทย, หุ้นไทย, แผนฟื้นฟูกิจการ