น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิต ยังคงมุ่งเน้นในการดำเนินนโยบายด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดการดำเนินงานเพื่อมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และปรับปรุงการทำงานให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรของกรมสรรพสามิตให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับในด้าน E และ S (Environment and Social) จะเน้นนโยบายการขยายฐานภาษี เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่น การจัดเก็บภาษีคาร์บอน การปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ การปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ เพื่อรองรับมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมอุตสาหกรรมสุราชุมชน และการจัดเก็บภาษีโซเดียม เป็นต้น
ส่วนในด้าน G (Governance) จะมุ่งเน้นการปรับกระบวนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ทั้งด้านการบริหารการจัดเก็บภาษี การปราบปราม และการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือ และสื่อสารกับภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับร่วมกัน
น.ส.กุลยา กล่าวว่า สำหรับในด้านนโยบายภาษี จะใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืน โดยการรักษาสมดุลระหว่างรายได้ และผลสัมฤทธิ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เช่น
– ภาษีรถยนต์ จะมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE) ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility) ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี EV PHEV HEV และ Hydrogen ตามนโยบายรัฐบาล
– ภาษีแบตเตอรี่ จะมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ที่จำเป็นต้องมีการใช้แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเกณฑ์ตามค่า Energy Density หรือประจุไฟฟ้าต่อน้ำหนัก และ Lifecycle หรือรอบการอัดประจุไฟฟ้า
– ภาษีคาร์บอน จะเป็นการเพิ่มกลไกราคาคาร์บอนภายในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับราคาคาร์บอน เพื่อสร้างความตระหนักในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน และภาคอุตสาหกรรม โดยเน้นย้ำว่าการเพิ่มกลไกดังกล่าว จะไม่กระทบต่อภาระภาษีสรรพสามิตในปัจจุบัน
– การแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบ โดยส่งเสริม และสนับสนุนอุตสาหกรรมสุราชุมชน เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีมาตรฐานและแข่งขันได้
– ภาษีโซเดียม อยู่ระหว่างการศึกษาประเภทสินค้าสำเร็จรูป และการกำหนดเกณฑ์ปริมาณโซเดียมที่จะจัดเก็บ ซึ่งจะเป็นภาษีที่ต้องการมุ่งเน้นด้านสุขภาพประชาชนเป็นหลัก
อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวด้วยว่า ในด้านนโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการจัดเก็บภาษี กรมฯ อยู่ในระหว่างดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ประกอบด้วย
– การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้กลไกอัตราตามมูลค่า ซึ่งฐานภาษีสำหรับอัตราตามมูลค่าในปัจจุบัน คือ “ราคาขายปลีกแนะนำ” โดยการกำหนดหลักเกณฑ์การแจ้งราคาขายปลีกแนะนำให้เข้มงวด และรัดกุม การกำหนดหลักเกณฑ์การสำรวจ และการจัดเก็บข้อมูลเพื่อพิจารณาฐานนิยม การปรับปรุงฐานข้อมูลด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย การกำหนดขั้นตอนการพิจารณาโครงสร้างราคาขายปลีกแนะนำให้ชัดเจน และใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ตลอดจนการกำหนดราคาของกลาง เพื่อใช้กระบวนการคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
– การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่สามารถแสกน QR CODE เพื่อตรวจสอบการชำระภาษีผ่านการใช้ E-stamp สำหรับสินค้าสุรา ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการใช้ E-stamp กับสินค้าบุหรี่ซิกาแรต ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการชำระภาษีสำหรับสินค้าบุหรี่ซิกาแรตได้ โดยมีการจัดเก็บข้อมูล อาทิ ตราสินค้า รายละเอียดสินค้า ชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า วันที่ชำระภาษี สถานที่จัดส่ง และราคาสินค้า เป็นต้น
โดยผู้ซื้อสามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ว่าตรงกับสินค้าหรือไม่ และหากพบว่า ข้อมูลของสินค้ากับข้อมูลที่ปรากฏไม่ตรงกัน ผู้ซื้อสามารถโทรแจ้งมายัง สายด่วนสรรพสามิต โทร. 1713 ได้ เพื่อกรมสรรพสามิต จะเข้าไปตรวจสอบต่อไป
– การพัฒนาคนให้มีความรู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเทคโนโลยีและกฎหมาย เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ซึ่งจะมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในรูปแบบ Digital เช่น พัฒนาบุคลากรให้มีทักษะทางด้านดิจิทัลแบบ Multi-Skilled Digital และพัฒนาเป็นระบบ e-Knowledge Sharing การถ่ายทอดความรู้ผ่านระบบโรงเรียนสรรพสามิต Excise School ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเนื้อหาเรื่องที่สนใจ และพัฒนาทักษะของตนเองให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง
– การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการทำงาน โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Digitalization 4 ด้าน ได้แก่ D-Service D-Office D-culture และ D-standard ตัวอย่างเช่น การขึ้นทะเบียน การยื่นแบบชำระภาษี การชำระเงิน และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ตลอดจนการใช้ Big Data และการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เพื่อคาดการณ์รายได้ และกำหนดนโยบายภาษี รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบฐานข้อมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจในเชิงนโยบาย
“กรมสรรพสามิต เตรียมพร้อมในทุกมิติ ในการบูรณาการด้านนโยบาย กฎหมาย พัฒนาบุคลากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้สอดคล้อง และเป็นไปทิศทางเดียวกัน เพื่อที่จะดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน และความสมดุล ระหว่างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย” น.ส.กุลยา ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ธ.ค. 67)
Tags: ESG, กรมสรรพสามิต, ภาษีสรรพสามิต, เศรษฐกิจไทย