ตลาดเฟอร์นิเจอร์ปี 68 ยังสดใส! แม้เผชิญ 3 ปัญหาท้าทาย แนะผู้ประกอบการปรับตัวสู่ความยั่งยืน

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS มีมุมมองว่า ในปี 67-68 คาดว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์โดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 4.5% และ 2.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยแบ่งเป็น

– ตลาดในประเทศ (สัดส่วน 70% ของมูลค่าตลาดรวม) จะฟื้นตัวได้อย่างจำกัดด้วยอัตราการขยายตัว 2.0%YoY และ 2.9%YoY ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์สำหรับที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มถูกกดดันจากภาคอสังหาฯ ที่ยอดขายใหม่ยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี ยังได้รับอานิสงส์จากความต้องการใช้เฟอร์นิเจอร์ในกลุ่มสำนักงาน และกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเข้ามาชดเชยได้บ้าง

– ตลาดส่งออก (สัดส่วน 30% ของมูลค่าตลาดรวม) คาดว่าจะขยายตัวที่ 10.4%YoY และ 2.7%YoY ตามลำดับโดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไปตลาดที่มีศักยภาพสูง อาทิ สหรัฐฯ ที่กลับมาขยายตัวตามทิศทางมูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ของไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่

1. กำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง และภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงซึ่งกดดันทั้งภาคอสังหาฯ และความสามารถในการใช้จ่าย ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อเฟอร์นิเจอร์ออกไป

2. การแข่งขันที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากการเข้ามาในธุรกิจทำได้ง่าย ไม่มีกฎระเบียบหรือขั้นตอนที่ซับซ้อน รวมถึงการแข่งขันของเฟอร์นิเจอร์จีนที่เข้ามาทำตลาดกับผู้บริโภคชาวไทยโดยตรง ผ่านทั้งช่องทาง Online และ Offline อาจกดดันยอดขายของผู้ประกอบการไทย

3. ความสามารถในการทำกำไรถูกกดดันจากต้นทุนการผลิต อาทิ ราคาไม้ยางพาราและราคาอะลูมิเนียมที่อยู่ในระดับสูง ค่าแรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ต้องติดตาม อาทิ นโยบายการค้าต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจทำให้ทิศทางและนโยบายการค้าต่างประเทศเปลี่ยน การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปัจจัยกดดันทำให้การแข่งขันในตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยมีความยากลำบากมากขึ้น

ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์อาจต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ จากมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่เข้มงวดขึ้น อาทิ มาตรฐาน CARB มาตรการ EUDR และมาตรการ CBAM รวมถึงกระแสของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังนั้น ผู้ประกอบการฯ ควรพิจารณานาแนวคิดด้าน ESG มาผนวกรวมกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับนโยบายการค้าในตลาดโลก และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว อาทิ เฟอร์นิเจอร์ในกลุ่ม Eco-Friendly หรือ Green Furniture เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 67)

Tags: ,