นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ช่วง 11 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-พ.ย.) ได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 884 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 202 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 682 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 213,964 ล้านบาท
โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. ญี่ปุ่น 239 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 119,057 ล้านบาท ได้แก่
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้บริการทดสอบทางเทคนิคเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องยนต์และการใช้พลังงานของยานยนต์ไฟฟ้าของลูกค้า เป็นต้น
- ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ
- ธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม
- ธุรกิจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ ชิ้นส่วนสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ
2. สิงคโปร์ 120 ราย คิดเป็น 14% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 16,332 ล้านบาท ได้แก่
- บริการทางวิศวกรรมและเทคนิคด้านต่าง ๆ เช่น การออกแบบทางวิศวกรรม และการวางระบบโครงสร้างการผลิต เป็นต้น
- ธุรกิจการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
- ธุรกิจบริการขุดเจาะปิโตรเลียม ภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจซึ่งเป็นพื้นที่สัมปทานในอ่าวไทย
- ธุรกิจบริการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ Cloud Service
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง เครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
3. จีน 117 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 16,674 ล้านบาท ได้แก่
- ธุรกิจบริการติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบการทำงานต่างๆ เพื่อติดตั้งระบบสายพานที่ใช้สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า
- ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
- ธุรกิจบริการบริการพัฒนา Enterprise Software
- ธุรกิจบริการสถานที่สำหรับเล่นเกมแก้ไขปริศนา (Escape Room)
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ชิ้นส่วนสำหรับเครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับระบบการสื่อสารแบบใยแก้วนำแสง
4. สหรัฐอเมริกา 115 ราย คิดเป็น 13% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 23,555 ล้านบาท ได้แก่
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การติดตั้ง บำรุงรักษา แก้ไข และปรับแต่งเว็ปไซต์ เป็นต้น
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ดูแลและบำรุงผิวหน้าและผิวกาย เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
- ธุรกิจโฆษณา
- ธุรกิจบริการซ่อมแซมและบำรุงรักษากล้องส่องตรวจ ท่อส่องตรวจ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้อง
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ ลูกอม ขนมขบเคี้ยว หมากฝรั่ง อาหารสำเร็จรูป Electro Magnetic Product, แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน
5. ฮ่องกง 62 ราย คิดเป็น 7% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 14,508 ล้านบาท ได้แก่
- ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นการจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
- ธุรกิจบริการฝึกอบรม ติดตั้ง บำรุงรักษา ซ่อมแซม และการปรับ (Calibration) เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์
- ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น การตอบคำถามโดยใช้เสียง (Voice to Voice) และการเสนอโฆษณาตามลักษณะของลูกค้า เป็นต้น
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า อาทิ ด้ายหรือผ้าที่มีคุณสมบัติพิเศษ ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูป ชุดแบตเตอรี่ความจุสูง (High Density Battery)
นางอรมน กล่าวว่า การเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมเครนในทะเล องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจรหัสพันธุกรรมมะเร็ง องค์ความรู้เกี่ยวกับการเจียระไนชิ้นงานเซรามิก องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบและซ่อมแซมเกี่ยวสินค้าประเภทเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยในปี 67 เพิ่มขึ้น 44%จากปี 66 จำนวน 272 ราย และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 118% ที่ 115,676 ล้านบาท ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวลดลง 40% ที่ 2,415 ราย โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุด ยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน
*11 เดือนแรกปีนี้ ต่างชาติลงทุนใน EEC เพิ่ม 134%
สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วง 11 เดือน ของปี 67 มีจำนวน 281 ราย คิดเป็น 32% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้น 134% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน 161 ราย และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 50,396 ล้านบาท คิดเป็น 24% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 158% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 30,865 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 96 ราย ลงทุน 18,637 ล้านบาท จีน 67 ราย ลงทุน 9,284 ล้านบาทฮ่องกง 19 ราย ลงทุน 5,223 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 99 ราย ลงทุน 17,252 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์
- ธุรกิจจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบส่วนประกอบและชิ้นส่วนสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อค้าส่งในประเทศ
- ธุรกิจบริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (Software Platform)
- ธุรกิจบริการชุบแข็ง (Heat Treatment)
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า เช่น ชิ้นส่วนยานพาหนะ ชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ธ.ค. 67)
Tags: ญี่ปุ่น, ธุรกิจ, นักลงทุนต่างชาติ, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม