เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปที่การผสานเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ากับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน มีเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน
EEC เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของไทยในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งซึ่งเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก และมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน เช่น ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง สนามบินอู่ตะเภา และเครือข่ายการขนส่งทางราง อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยพื้นที่ EEC ยังเน้นการพัฒนาโครงสร้างที่รองรับอุตสาหกรรม New S-Curve ได้แก่ หุ่นยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ และพลังงานสะอาด เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง และ นิคมอุตสาหกรรม WHA Eastern Seaboard ซึ่งได้นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรและกระบวนการผลิต เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียแบบอัจฉริยะ ระบบพลังงานหมุนเวียน และการใช้ IoT (Internet of Things) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
รัฐบาลไทยได้มีโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC มาตรการสำคัญ ได้แก่
1) การสนับสนุนด้านภาษีและสิทธิประโยชน์ทางการลงทุน : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ รวมถึงสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยีสะอาด หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า และการผลิตอุปกรณ์ดิจิทัล
2) การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) : กระทรวงอุตสาหกรรมได้วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อลดปริมาณของเสียในกระบวนการผลิต และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า (Recycle)
3) การจัดการกากอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม : รัฐบาลได้ออกกฎหมายควบคุมการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด เพื่อสนับสนุนเป้าหมายด้านความยั่งยืนในระยะยาว
ความสามารถของประเทศไทยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับภูมิภาค ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น Foxsemicon จากไต้หวัน ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำ และได้ลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาทในประเทศไทย โดยมีแผนจัดตั้งฐานการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ และบี.กริม เพาเวอร์ บริษัทพลังงานรายใหญ่ของไทยได้ประกาศลงทุนมูลค่า 136,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียน 10 กิกะวัตต์ ภายในปี 2573 โดยส่วนหนึ่งของพลังงานนี้จะถูกส่งไปยัง Data Centers ที่กำลังเติบโตในพื้นที่ EEC
การลงทุนเหล่านี้ไม่เพียงสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับประชากรในพื้นที่ แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทยในตลาดโลก
นิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ได้นำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวอย่างของโครงการที่น่าสนใจทั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ (Constructed Wetland) ซึ่งโครงการนี้ใช้พืชน้ำและกระบวนการธรรมชาติในการบำบัดน้ำเสีย ลดต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, ศูนย์ปฏิบัติการแบบรวมศูนย์ (Unified Operation Center: UOC) ระบบที่สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศ น้ำ และพลังงานได้แบบเรียลไทม์ เพิ่มความโปร่งใสในการบริหารจัดการทรัพยากร และการใช้เทคโนโลยี IoT และ AI ในการจัดการกระบวนการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม เช่น การควบคุมการใช้พลังงาน และการจัดการโลจิสติกส์
นอกจากนี้ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในทิศทางที่ยั่งยืน โดยเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างชุมชนอัจฉริยะในพื้นที่ใกล้เคียงนิคม ตัวอย่างที่โดดเด่น เช่น โครงการปลูกป่าชายเลนในพื้นที่ EEC เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริดในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เป็นต้น
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ประเทศไทยไม่เพียงมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังวางรากฐานสำหรับเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมั่นคงในระยะยาว ความมุ่งมั่นดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก และสร้างอนาคตที่สดใสสำหรับประชาชนในประเทศ
ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้า การลงทุน และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ธ.ค. 67)
Tags: Decrypto, EEC, SCOOP, อุตสาหกรรมเทคโนโลยี, เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก