นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า พิจารณามาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย “Easy E-receipt” ในการซื้อสินค้าและบริการเพื่อใช้ลดหย่อนผ่านภาษี โดยจะให้สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในช่วงกลางเดือน ม.ค. ถึงสิ้นเดือน ก.พ. 68 และคาดว่ามาตรการนี้จะส่งผลให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ราว 10,000 ล้านบาท แต่จะช่วยทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจถึง 70,000 ล้านบาท
สำหรับเงื่อนไขของมาตรการ แบ่งเป็น
- วงเงิน 3 หมื่นบาทแรก จะสามารถใช้ได้กับสินค้าและบริการเหมือนกับปีก่อน โดยจะมีเพิ่มเติมคือสามารถใช้ได้กับค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เช่น ค่าแพ็คเกจท่องเที่ยว ค่าโรงแรม ค่าร้านอาหาร เป็นต้น
- วงเงิน 2 หมื่นล้านบาทที่เหลือ จะสามารถใช้ได้กับสินค้าและบริการของวิสาหกิจชุมชน และ OTOP เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในกลุ่มเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุนชน สนับสนุนให้เกิดการเติบโตอย่างเข้มแข็ง
ทั้งนี้ ร้านค้า และวิสาหกิจชุมชนที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และจดทะเบียนในระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) เท่านั้น ดังนั้นจึงอยากรณรงค์ให้ร้านค้าเข้าสู่กลไกของภาครัฐ เพื่ออนาคตในการดำเนินการด้านภาษีที่ง่ายและสะดวกมากขึ้นทั้งผู้ใช้บริการ และผู้เก็บภาษี
“ประชาชนสามารถใช้จ่ายผ่านมาตรการ Easy E-receipt ได้ โดยหากจะใช้กับวิสาหกิจชุมชน หรือ OTOP ทั้ง 5 หมื่นบาทเลยก็ทำได้ แต่ต้องเป็นระบบ e-Tax Invoice ทั้งหมด ซึ่งหากประชาชนใช้สิทธิ์เต็มตามวงเงินที่กำหนด 5 หมื่นบาท จะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีที่ 1 หมื่นบาท ซึ่งปีที่ผ่านมาโครงการนี้ก็ได้สนับสนุนให้มีผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมากขึ้นกว่า 20% ส่วนปีนี้ก็เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการเข้ามาร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นด้วย” นายจุลพันธ์ กล่าว
สินค้าและบริการที่ยกเว้น ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษี ตามมาตรการ Easy E-Receipt ได้
- ประเภทสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ
- น้ำมันก๊าซ
- ค่าบริการประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่าซื้อจักรยานยนต์และรถยนต์ เรือ
- ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า-น้ำประปา
- ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ต
- ค่าเบี้ยประกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 67)
Tags: Easy E-Receipt, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ภาษี, ลดหย่อนภาษี