สหรัฐฯ ชี้ โครงการขีปนาวุธปากีสถานเป็น “ภัยคุกคามอุบัติใหม่”

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทำเนียบขาวระบุเมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) ว่า ปากีสถานซึ่งมีอาวุธนิวเคลียร์ กำลังพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกลที่อาจเป็น “ภัยคุกคามอุบัติใหม่” ต่อสหรัฐฯ เนื่องจากสามารถโจมตีเป้าหมายนอกภูมิภาคเอเชียใต้ได้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า จอน ไฟเนอร์ รองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เปิดเผยเรื่องนี้ ซึ่งสะท้อนความสัมพันธ์สหรัฐฯ-ปากีสถานที่เสื่อมถอยลงหลังสหรัฐฯ ถอนทัพจากอัฟกานิสถาน และทำให้เกิดคำถามถึงเป้าหมายที่เปลี่ยนไปของโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธปากีสถาน ซึ่งเดิมมุ่งตอบโต้อินเดีย

ไฟเนอร์กล่าวว่า ปากีสถานพัฒนาระบบขีปนาวุธและเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งจะทำให้ทดสอบเครื่องยนต์จรวดขนาดใหญ่ได้ และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ปากีสถานจะโจมตีเป้าหมายได้ไกลถึงสหรัฐฯ

เขากล่าวว่า มีเพียงไม่กี่ชาติที่เป็นปรปักษ์ เช่น รัสเซีย เกาหลีเหนือ และจีน ที่มีขีปนาวุธยิงถึงสหรัฐฯ “จึงยากที่จะมองว่าการกระทำของปากีสถานไม่ใช่ภัยคุกคามอุบัติใหม่”

คำกล่าวของไฟเนอร์มีขึ้นหลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรโครงการขีปนาวุธปากีสถาน รวมถึงหน่วยงานกลาโหมของปากีสถาน

ด้านรัฐบาลปากีสถานยืนยันว่า โครงการดังกล่าวมีไว้ป้องปรามการรุกรานจากอินเดียและรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระดับสูง 2 รายผู้ไม่ประสงค์ออกนามเปิดเผยว่า ความกังวลเรื่องนี้มีมานานแล้ว โดยมีสาเหตุหลักมาจากขนาดของเครื่องยนต์จรวดที่กำลังพัฒนาอยู่ และภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ จากโครงการนี้อาจเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า ส่วนคำกล่าวของไฟเนอร์นั้นมีขึ้นเพื่อต้องการกดดันปากีสถานให้ชี้แจงเหตุผลการพัฒนาเครื่องยนต์ดังกล่าว

“พวกเขาไม่ยอมรับความกังวลของเรา และกล่าวหาว่าเรามีอคติ” เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อีกรายกล่าว พร้อมเสริมว่า เจ้าหน้าที่ปากีสถานยังกล่าวเป็นนัยแบบผิด ๆ ว่า มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อโครงการขีปนาวุธของปากีสถานนั้น มีเป้าหมายเพื่อ “จำกัดความสามารถในการป้องกันตนเองจากอินเดีย”

ไฟเนอร์กล่าวว่า ตัวเขาเองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ได้พูดถึงความกังวลเรื่องโครงการขีปนาวุธนี้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของปากีสถานไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล

ไฟเนอร์กล่าวว่า สหรัฐฯ กับปากีสถานเคย “เป็นพันธมิตรกันมานาน” ทั้งในด้านการพัฒนา การต่อต้านการก่อการร้าย และความมั่นคง

“นั่นทำให้เราสงสัยมากขึ้นไปอีกว่า ทำไมปากีสถานจึงอยากพัฒนาศักยภาพที่อาจหันมาเล่นงานเราได้” ไฟเนอร์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า สุนทรพจน์ของไฟเนอร์เป็นเรื่องที่น่าจับตาอย่างยิ่ง

“การที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ออกมาพูดถึงความกังวลเรื่องการแพร่ขยายอาวุธในปากีสถาน และโยงไปถึงภัยคุกคามโดยตรงต่อแผ่นดินแม่ของสหรัฐฯ ในอนาคต ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมาก” ไมเคิล คูเกลแมน จากสถาบันวิจัยวิลสันเซ็นเตอร์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ธ.ค. 67)

Tags: , , , , , ,