การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้ (18 ธ.ค.) ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมติยืนยันตามร่างแก้ไขของวุฒิสภา (สว.) ให้ยึดเกณฑ์ประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นแบบ 2 ชั้น คือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงทั้งหมด และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง ขณะที่ สส.พรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคประชาชน อภิปรายไปในทิศทางเดียวกัน โดยขอให้ใช้เกณฑ์ประชามติด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียว
น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การทำประชามติ ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในมือของประชาชนที่จะไขประตูบานใหญ่ของประเทศ เข้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งในคำแถลงของรัฐบาลต่อรัฐสภา ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ตนพร้อมด้วย สส.พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับระบบสองมาตรฐานนี้ เพราะแปลกแยกจากระบบที่เป็นอยู่ ในเมื่อระบบการลงคะแนนเสียงของประชาชน คือ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย การใช้เสียงข้างมากปกติโดยตรง จึงเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น เพราะยุ่งยากและกีดกันเสียงที่แท้จริงของประชาชนออกไป
“เมื่อพิจารณาสิทธิ์ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตามด่านพิสดารของเสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็อาจทำให้สิทธิ์เสียงข้างมากของประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ตามกระบวนการประชาธิปไตย ถูกบิดเบือนไปได้ เว้นเสียแต่ว่า ผู้ที่สนับสนุนหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นปรารถนาอยู่ลึก ๆ ในใจว่าให้การใช้สิทธิ์ออกเสียงของประชาชนเป็นไปได้ยากขึ้น พูดง่าย ๆ คือ ใครที่ยังคิดสนับสนุนเสียงข้างมาก 2 ชั้น อาจจะถูกครหาได้ว่าขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ 2560” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว
ด้านนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายตำหนิพรรคร่วมรัฐบาลว่า เป็นตัวถ่วงประชาธิปไตย กฎหมายทุกฉบับและรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญจะทำได้ต้องผ่านประชามติก่อน ทั้งนี้ สว.และ สส.หากมีปัญหาเห็นไม่ตรงกัน อำนาจให้ไว้ที่รากแก้ว คือ สส. ส่วน สว.เปรียบเสมือนรากฝอย เมื่อขัดแย้งกันต้องใช้สภาฯ ยืนยันตามสภาฯ เพราะเป็นสภาฯ ตัดสิน แต่เสียเวลา เพราะต้องรอเวลา 180 วันหรือ 6 เดือน ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ทันในสมัยนี้ อย่างมากเสนอได้แค่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เท่านั้น
“ใครคือจำเลย สภาผู้แทนฯ ไม่ใช่อีกสภาหนึ่งใช่หรือไม่ ต้องใช้วิจารณญาณ สภาผู้แทนฯ เห็นด้วยให้มีชั้นเดียว ทุกพรรคการเมืองร่วมตั้งกรรมาธิการ แต่ผมผิดหวัง ที่อยู่ ๆ ไปงดออกเสียง กลับลำสิ่งที่ตนเองลงมติไว้ และทราบข่าวว่าจะงดออกเสียงอีก จะบั่นทอนอำนาจสูงสุดที่ประชาชนให้ไว้ ไปร่วมกับสภารากฝอยได้อย่างไร ผมพูดด้วยน้ำตา พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แถลงนโยบายด้วยกัน ว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงประชาชนและหลักการประชาธิปไตย พรรคร่วม ทุกพรรคต้องปฏิบัติตามนี้ ไม่เช่นนั้น จะลงเรือลำเดียวกันได้อย่างไรต่อไป” นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร กล่าวว่า ประธานกมธ.ร่วม รวมถึง สส.ที่ได้รับอำนาจจากสภาฯ แล้วไปกลับลำที่สภาสูงขอให้กลับใจ แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่นี่เป็นที่แก้ไข ไม่ใช่ที่ถ่วงความเจริญของประชาธิปไตย ใครคนใดที่ไม่แก้รัฐธรรมนูญ หรือถ่วงความเจริญ ถือว่าคนนั้นทำลายประชาธิปไตย
ขณะที่นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทย ยึดมั่นในสิ่งที่พรรคได้เสนอในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ต้องมีเกณฑ์แบบ 2 ชั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด แม้เราเห็นต่างกัน แต่ไม่ได้ยึดติดหรือยึดมั่นโดยไม่มีหลักการและเหตุผล เราเห็นว่ามีความจำเป็นว่าต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น เหตุผลเพราะประชาชนตระหนักดีว่าทุกเรื่องที่ต้องทำประชามติสำคัญ และมีผลกระทบทั้งประเทศ จึงต้องการความมั่นใจว่าผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์มีปริมาณเพียงพอที่น่าเชื่อถือจริง ๆ
ข้อกังวลว่าหลักเกณฑ์แบบ 2 ชั้น จะนำไปสู่การรณรงค์เพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ หากมีการกระทำเช่นนั้น ประชามติจะเป็นโมฆะได้ แต่ตนคิดว่าไม่น่าเกิดขึ้นได้ นอกจากการรณรงค์เช่นนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตนและพรรคเชื่อว่าวันนี้ความรู้สึกของประชาชนเกี่ยวกับการเมืองมีความตื่นรู้ ตระหนักรู้สิทธิ์ของตัวเอง ไม่เชื่อว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิ์น้อยกว่าการทำประชามติรอบที่ผ่านมา ซึ่งออกมาใช้สิทธิ์สูงกว่า 60% ตนไม่เชื่อว่าคนไทยจะถูกใครบางคนหรือบางพรรคชักจูงให้สละอำนาจที่พึงมีของเขาได้อีกต่อไป เรากำลังดูถูกประชาชน และวิวัฒนาการประชาธิปไตยมากไปหรือไม่
“วันนี้มีเพื่อนสมาชิกพาดพิงมาถึงพรรคภูมิใจไทย แล้วบอกว่าเสียใจที่เราจะงดออกเสียง ไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง และมีการพูดว่าพรรคภูมิใจไทย อาจจะมีความต้องการหรือเจตนาจะขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ตราบใดที่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริง ๆอย่างเห็นได้ชัด พรรคภูมิใจไทยไม่มีทางหรอกครับ…ขออนุญาตยืนยันจุดยืนเดิมที่พรรคเคยนำเสนอในการทำประชามติ เพราะคิดว่าเป็นการคืนอำนาจจากสภาตัวแทนไปสู่เจ้าของอำนาจประชาธิปไตยตัวจริง ที่คำนึงถึงเสียงของทุกคน และถูกตัดสินใจในเสียงส่วนมาก เราจึงมองว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศ จำเป็นต้องมีเกณฑ์ถึงจะสามารถสะท้อนความเห็นของชาวไทยทั้งประเทศได้ และมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอ พรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการทำให้กระบวนการทำประชามติควรเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนไทยทุกคน แต่ไม่ควรจะมักง่ายในวิธีการ” นายไชยชนก กล่าว
กระทั่งเวลา 20.25 น. ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน พิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 326 ต่อ 61 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137(3) และมาตรา 138(2) กำหนดว่าร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งจะพิจารณาใหม่ได้เมื่อพ้น 180 วัน นับแต่ที่สภาฯ ไม่เห็นชอบ จากนั้นประธานได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 20.30 น.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ธ.ค. 67)
Tags: ประชามติ, ประชุมสภาผู้แทนราษฎร, พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน, แก้ไขรัฐธรรมนูญ