“คอมเปค” ผู้ผลิต PCB รายใหญ่ของโลก ทุ่มหมื่นล้านเปิดโรงงานในนิคมฯเอเชีย ปักหมุดไทยผู้นำฐานผลิตในอาเซียน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวภายหลังร่วมพิธีเปิดโรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) ของบริษัท คอมเปค (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) จังหวัดสมุทรปราการ ว่า อุตสาหกรรม PCB ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดได้หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทั้งจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมและอยู่ระหว่างเร่งลงทุนสร้างโรงงานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนใหญ่มีแผนเดินเครื่องการผลิตตั้งแต่ปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้า

สำหรับบริษัท คอมเปค (Compeq) เป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 5 ของโลกจากไต้หวัน ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอเมื่อเดือน ธ.ค.66 และได้ก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่บนพื้นที่ 112 ไร่ ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรก 10,417 ล้านบาท โดยได้ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักรแล้วเสร็จในเวลาเพียงประมาณ 1 ปี และจะเริ่มเดินเครื่องผลิตในประเทศไทยตั้งแต่เดือน ธ.ค.67 เป็นต้นไป

โดยโรงงานของบริษัท คอมเปค (ประเทศไทย) มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ชนิด Multilayer Printed Circuit Board ซึ่งสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้สูงสุดถึง 34 ชั้นในแผงวงจรเดียว ทำให้สามารถสร้างระบบที่มีความซับซ้อนและเสถียรภาพ (Reliability) สูง สำหรับใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องการประสิทธิภาพสูงหรือมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เช่น ระบบสื่อสารและดาวเทียม รถยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซ็นเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องมือแพทย์ และ Power Supply เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกถึงกว่าร้อยละ 90 คิดเป็นมูลค่าส่งออกกว่า 6,600 ล้านบาทต่อปี โดยโครงการลงทุนในเฟสแรกนี้จะมีการจ้างงานบุคลากรไทยทันทีประมาณ 600 คน และจะขยายการจ้างงานถึงกว่า 1,500 คนในปีหน้า

“การที่บริษัท คอมเปคฯ ตัดสินใจในลงทุนในประเทศไทย โดยเป็นการตั้งโรงงานนอกไต้หวันและจีนเป็นครั้งแรก และเริ่มการผลิตอย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมของไทยในการเป็นฐานผลิต PCB ที่สำคัญในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ และบุคลากรที่มีคุณภาพในการรองรับกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยโครงการนี้จะมีการใช้เทคโนโลยีการผลิตระดับสูง รวมถึงระบบออโตเมชั่นสมัยใหม่ในสายการผลิต ซึ่งบริษัทจะช่วยพัฒนาบุคลากรไทยให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีการผลิตใหม่ ๆ อีกด้วย ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากคลื่นการลงทุน PCB ในครั้งนี้ นอกเหนือจากเรื่องบุคลากร การส่งออก และโอกาสทางธุรกิจของผู้ผลิตวัตถุดิบไทยแล้ว ยังจะเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้กับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเป็นฐานสำคัญให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงอื่น ๆ ทั้ง EV, Data Center, Digital, เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของเศรษฐกิจไทยในอนาคต” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปี 66 ถึงปัจจุบันมีผู้ผลิตในอุตสาหกรรม PCB ระดับโลกได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยมีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 107 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 173,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น มีทั้งบริษัทรายใหม่ เช่น Compeq, ZDT, Unimicron, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics และการขยายการลงทุนต่อเนื่องของกลุ่มผู้ผลิตเดิม เช่น Delta Electronics, Mektec, KCE Electronics เป็นต้น ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิต PCB อันดับ 1 ในอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,