ตร.ไซเบอร์ รวบบัญชีม้าแถวแรกหลอก “ชาล็อต” โอนเงิน-อายัดได้บางส่วน เร่งขยายผล

สืบเนื่องจาก น.ส.ชาล็อต ออสติน นางงามมิสแกรนด์ ได้มาแจ้งความว่าได้ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวง โดยได้มีคนร้ายอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้โทรไปหาผู้เสียหาย อ้างว่ามีการตรวจสอบข้อมูลพบชื่อของผู้เสียหาย มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน และได้มีการโอนสายให้คุยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ กก.3 บก.สอท.1 ได้สืบสวนจนทราบตัวผู้ร่วมขบวนการ และสามารถจับกุมตัว นางสาวปาริฉัตต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี ตามหมายจับศาลอาญา ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น, ร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจ ด้วยการขู่เข็ญ, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือ ปลอมว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยเป็นการกระทำต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด และ เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของตน โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดทางอาญาอื่นใด” โดยจับกุมตัวได้ที่ บริเวณบ้านหนองไผ่ล้อม ต.หนองบัวใหญ่ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ

เบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้ากล่าวหา แต่ยอมรับในข้อหา “เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝากฯ” โดยอ้างว่า เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.67 ที่ผ่านมา สามีของผู้ต้องหาได้บอกว่ามีงานพิเศษให้ทำ คือการเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับรายได้ โดยมีตอบแทนให้บัญชีละ 3,500 บาท ซึ่งผู้ต้องหาอ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าการรับจ้างเปิดบัญชีธนาคารนั้นมีความผิดตามกฎหมาย ทั้งตนและสามีจึงตกลงรับงานและแยกย้ายกันไปเปิดบัญชี ก่อนจะเดินทางไปยังกัมพูชา เพื่อไปสแกนหน้าผ่านแอพพลิเคชัน Mobile Banking ที่ได้ลงทะเบียนไว้ โดยสแกนวันละ อย่างน้อย 1 รอบ หรือมากกว่านั้น หลังจากนั้นมีคนไทยที่เป็นผู้ช่วยบอสจีน เข้ามาแจกค่าจ้างเป็นเงินสดซึ่งเป็นธนบัตรไทยแก่ผู้ที่ทำภารกิจสแกนเสร็จสิ้นแล้วโดยผู้ต้องหามีบัญชีธนาคาร 4 เล่ม ได้รับเงินจำนวน 14,000 บาท ภายหลังบัญชีดังกล่าวถูกกอายัดจึงถูกส่งตัวกลับประเทศไทยผ่านช่องทางเดิม

ทั้งนี้ ตำรวจไซเบอร์อยู่ระหว่างเร่งสืบสวนขยายผลเพื่อติดตามจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการที่ยังหลบหนีมาดำเนินคดีเพิ่มเติม และยืนยันว่าตำรวจไซเบอร์ทุกนายมีความตั้งใจในการทำคดีอย่างเต็มที่ในทุกคดี เพื่อเป็นที่พึ่งและเยียวยาความเดือดร้อนของผู้เสียหายทุกราย ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นคนมีชื่อเสียง บุคคลทั่วไป หรือกลุ่มเปราะบาง จึงขอให้มั่นใจในการทำงานของตำรวจไซเบอร์

พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง (ผบช.สพฐ.) รักษาราชการแทนผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รรท.ผบช.สอท.) กล่าวถึงกรณีสามารถคลี่คลายคดีได้รวดเร็วจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำงานแบบสองมาตรฐานนั้นว่า การทำงานของ บช.สอท.มีแนวทางปฏิบัติสำหรับคดีออนไลน์ที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว นับตั้งแต่ผู้เสียหายโทรศัพท์เข้ามาแจ้งความที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ทางเจ้าหน้าที่ บช.สอท.ซึ่งประจำอยู่ที่ศูนย์ฯ จะประสานไปยังธนาคารที่เกี่ยวข้องเพื่ออายัดบัญชีทันที หลังจากนั้นจะประสานกับพนักงานสอบสวนเพื่อให้สอบปากคำผู้เสียหาย ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนตามปกติ

กรณีนี้ บช.สอท.ได้ประสานไปยัง สน.สุทธิสาร เนื่องจากพิจารณาแล้วว่าคดีเข้าข่ายความรับผิดชอบ เพื่อเร่งดำเนินการตามขั้นตอนทันที โดยได้ประสานไปยังธนาคารแห่งแรกซึ่งได้รับข้อมูลเส้นทางการเงินอย่างรวดเร็ว หลังจากนั้นได้มีการโอนเงินออกนอกระบบสถาบันการเงินในประเทศไปยังศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้รับข้อมูลและสามารถขออายัดเงินชั่วคราวได้แล้วบางส่วน เนื่องจากมิจฉาชีพได้กระจายเงินดังกล่าวออกไปหลายบัญชีที่เป็นชาวต่างชาติ โดย บช.สอท.พยายามที่จะประสานศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลฯ เพื่อขอให้โอนเงินคืนแม้จำเป็นเพียงบางส่วนก็ตาม

“เป็นความโชคดีที่เคสนี้มีข้อมูลที่ตำรวจไซเบอร์เคยทำไว้แล้ว และมีการออกหมายจับบัญชีม้าในคดีนี้ไว้แล้วกว่า 400 หมาย พอเห็นบัญชีในคดีนี้ซ้ำกับข้อมูลที่เรามีอยู่ก็นำไปตรวจสอบความเชื่อมโยงกับคดีที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ทำให้ดำเนินการสืบสวนจับกุมได้อย่างรวดเร็ว” พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์

พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า จากข้อมูลการสืบสวนของ บช.สอท.กำลังพิจารณาข้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น การมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรม ซึ่งจะช่วยให้ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศมากขึ้น และเป็นคดีตัวอย่างที่สามารถติดตามเงินกลับคืนมาได้ โดยต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ส่วนผู้ที่ยินยอมให้เป็นบัญชีม้าถือว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิดที่มีโทษหนัก เพราะในกระบวนการเบิกเงินต้องมีการสแกนใบหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ธ.ค. 67)

Tags: , , , ,