“อนุสรณ์” แนะเร่งพัฒนา “ทักษะแรงงาน” ปัจจัยดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า บรรษัทข้ามชาติเจ้าของเทคโนโลยีและธุรกิจอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ยังมุ่งการลงทุนและตั้งศูนย์กลางของภูมิภาคไปยังประเทศที่มีทักษะแรงงาน และทรัพยากรมนุษย์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียงพอต่อความต้องการ คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมได้เพิ่มเติม อีกสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากแรงงานมันสมองคุณภาพสูงเหล่านี้

นอกจากนี้ การมีภาครัฐโปร่งใสปลอดทุจริตคอร์รัปชัน มีความคงเส้นคงวา และความต่อเนื่องของนโยบาย รวมทั้งเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย ล้วนเป็นปัจจัยดึงดูดโครงการการลงทุนระยะยาวทั้งสิ้น

“ประเทศไทยคงต้องพิจารณาดูว่า เรามีสิ่งนี้แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างไร เพราะการลงทุนจะมุ่งไปที่ประเทศที่ดีที่สุดเสมอ อาจจะกระจายลงทุนบ้างเ พื่อกระจายความเสี่ยงเรื่องการกระจุกตัว แต่โครงการขนาดใหญ่ระยะยาว จะไปยังประเทศที่มีความพร้อมที่สุด และจะใช้ประเทศนั้นเป็นฐานในการส่งออกและให้บริการ เพื่อใช้ประโยชน์จากการเป็นตลาดเดียวกัน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” นายอนุสรณ์ กล่าว

พร้อมมองว่า การพัฒนาผลิตภาพแรงงาน และผลิตภาพทุนให้สูงขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง มาตรการประชานิยมแจกเงิน จะแย่งเม็ดเงินในการลงทุนเพิ่มผลิตภาพของสังคมได้ การเพิ่มผลิตภาพจะทำให้นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนขั้นต่ำไม่ก่อปัญหาต้นทุนต่อภาคธุรกิจ และภาคการผลิต ค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวขึ้นสูง เป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยและตลาดแรงงานในเอเชียเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่น ๆ อีก เช่น การใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์หรือสมองกลอัจฉริยะแทนแรงงานมนุษย์

“ธุรกิจอุตสาหกรรม ต้องปรับตัวต่อแนวโน้มต่าง ๆ และรัฐต้องมีนโยบาย และมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ” นายอนุสรณ์ ระบุ

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า แนวโน้มที่สำคัญ และยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่าค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตระดับหนึ่งแต่ไม่สูงเท่าจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ดีกว่า ลาว เขมร เมียนมา ผลิตภาพแรงงานไทยโดยเฉลี่ยต่อคนปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity) หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ แล้ว พบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (PPP) อยู่ในระดับปานกลาง ผลิตภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเป็นตัวกำหนดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ผลิตภาพแรงงานเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน เพื่อใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยทำการวัดจากอัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงานในระยะหลัง ไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนักเพราะมีปัญหา การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาก็มีปัญหาทางด้านคุณภาพในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ป้อนเข้าสู่ระบบการผลิต

นอกจากนี้ แรงงาน (ประชากรในวัยทำงาน) ยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ โดยในทศวรรษนี้จะเพิ่มเพียง 0.2% เท่านั้น ขณะที่ทศวรรษที่แล้วก็เพิ่มน้อยอยู่แล้ว 1% แล้วแรงงานส่วนใหญ่ที่ทำงานอยู่ก็ทำงานนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ เกือบครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานไม่ใช่ลูกจ้างระยะยาวที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน

นายอนุสรณ์ ยังสนับสนุนแนวคิดในการฟื้นฟูนโยบาย 1 อำเภอ 1 ทุนศึกษา เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และเสนอว่าโครงการดังกล่าวควรอยู่ภายใต้การดูแล ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อจะได้ผนวกรวมงานขยายโอกาสทางการศึกษาเข้าด้วยกัน เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบประมาณ และทรัพยากรต่าง ๆ

ประเทศไทยยังมีปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ต้องได้รับการแก้ไข จึงจะหลุดพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาค เพื่อทำให้ครอบครัวรายได้น้อยหรือครัวเรือนยากจน สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพ จะทำให้สมาชิกในครอบครัวมีทักษะในการทำงาน มีรายได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว และมีความสามารถในการยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากความยากจนได้

“การเพิ่มโอกาสการศึกษา และการพัฒนาทักษะแรงงาน จึงเป็นการแก้ปัญหาความยากจนข้ามรุ่น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ดีกว่ามาตรการประชานิยมแจกเงินทั้งหลาย” นายอนุสรณ์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ธ.ค. 67)

Tags: , , ,