น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ได้ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจาในประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ต่อน.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีโดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เป็นผู้มาตอบแทน
โดยน.ส.ศิริกัญญา ถามถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ตามที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้เสนอภาษี 3 ตัว คือ 2 ลด 1 เพิ่ม ได้แก่ การศึกษาว่าจะการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 20% เหลือ 15% และมีการศึกษาว่าจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จากเดิมที่จัดเก็บเป็นขั้นบันใดมาเป็นอัตราเดียวกันทั้งประเทศคือ 15% รวมถึงมีการศึกษาว่าจะเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันคือ 15% ว่าต้องการเก็บรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้นหรือไม่ รวมถึงได้ตั้งโจทย์ไว้หรือไม่ว่าใครควรจะต้องรับภาระภาษีในการปฏิรูป หรือใครควรจะได้รับการลดภาษีลง
โดยหากจะอ้างว่าอยากลดภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax หรือ GMT) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ออกกฎว่าประเทศที่เข้าร่วมต้องเก็บภาษีในอัตรา 15% และการที่จะเก็บภาษีในอัตรา 15% สำหรับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนทั่วไปนั้นที่มีรายได้ไม่ถึงสามแสนบาทต่อเดือนจำเป็นจ่ายภาษีที่มากขึ้น การทำงาน 12 เดือน เท่ากับต้องเสียเงินเดือน 1 เดือนไปเป็นภาษี ซึ่งกลับหัวกลับหางกับความตั้งใจของบุคคลธรรมดาที่ต้องสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี
“จึงงง ๆ ว่าหากท่านอยากจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้นและกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ทำไมจึงเลือกที่จะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง ทำให้คนธรรมดาต้องจ่ายภาษีเพิ่ม และกลับไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจริง ๆ ต้องปรับขึ้นอยู่แล้ว แต่หากท่านไม่มีแผนที่จะเสียรายได้ขนาดนี้จากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นนี้” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
ด้านนายจุลพันธ์ ชี้แจงว่า เรามีปัญหาในเรื่องโครงสร้างภาษีมาอย่างยาวนาน การจัดเก็บรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP 14% เศษ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของโลกค่อนข้างมากที่เฉลี่ยอยู่ที่ 18% สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ถึงตัวเลขที่เราต้องการ มาจากการลดหย่อนหลายเรื่อง รวมถึง VAT ภาษีเงินได้ประเภทต่าง ๆ จึงต้องมาศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้นและเกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่จะมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งต้องกระทบกับประชาชนให้ได้น้อยที่สุด
ทั้งนี้ กลไกในการเดินหน้าในเรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว ใจอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลไกบังคับใช้ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ
“ตัวเลขไม่มีการตั้งเป้าว่าเป็นเท่าไหร่ แต่แนวความคิดที่มีการพูดคุยกัน ตัวเลข 15% ก็เป็นไปได้ครับ ว่ามีการพูดคุยกันในระดับนานาชาติ เช่น OECD มีการพูดถึงภาษีนิติบุคคล 15% เป็นขั้นต่ำ โดยหลักคิดทุกประเทศไม่ควรมีการแข่งขันกันในเรื่องลดอัตราภาษีอีกต่อไปแล้ว ในอดีตแข่งกันลดราคา ลดหย่อน สุดท้ายไม่มีรายได้เข้ารัฐ พอที่จะนำไปพัฒนาประเทศพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วันนี้จึงมีเกณฑ์ขึ้นมาว่าทุกประเทศมีการเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% สุดท้ายคงเป็นทิศทางของโลกที่จะต้องไหลเข้าสู่ตัวเลขนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้เราก็คิดว่า 15% เป็นหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าสุดท้ายจะต้องดึงตัวเลขทั้งหมดเข้ามาอยู่ที่ 15% ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ท่านก็รู้ว่ากระบวนการเรื่องภาษีไม่สามารถเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าพลิกดินได้ มันมีเรื่องของระยะเวลา” นายจุลพันธ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ธ.ค. 67)
Tags: ภาษี, ศิริกัญญา ตันสกุล