สรุปข่าวเด่นวงการ Cryptocurrency ทั่วโลกรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-13 ส.ค.64) เริ่มต้นด้วยข่าวใหญ่การโจมตีแพลตฟอร์มของแฮ็กเกอร์ (Hacker) มากมายหลายรูปแบบ ไม่ว่าในอุตสาหกรรมใด ๆ ก็ตาม ล่าสุดได้เกิดเหตุการณ์โจมตี Bridge protocol (แพลตฟอร์มเพื่อการโอนเงินข้ามเครือข่าย) ที่ให้บริการบนโลกบล็อกเชน ทั้ง 3 เครือข่าย ซึ่งนับมูลค่าความสูญเสียกว่า 600 ล้านดอลลาร์ นับเป็นความสูญเสียที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก DeFi
*”Poly Network” Bridge Protocol ชื่อดัง โดนแฮ็กกว่า 600 ล้านดอลลาร์
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ทาง “PolyNetwork” แพลตฟอร์มผู้ให้บริการโอนข้ามเหรียญระหว่างเครือข่าย (Bridge Protocol) ชื่อดังได้ออกมาประกาศว่าโดนโจมตีจากแฮ็กเกอร์ (Hacker) โดยการแฮ็กครั้งนี้ สูญเสียเงินไปกว่า 600 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการโดนแฮ็ก ที่สูญเสียเงินมากที่สุด เท่าที่แพลตฟอร์ม Decentralized Finance เคยโดนมา
หลังจากการโดนโจมตีดังกล่าว ทางทีมงาน Poly Network ได้ออกมาเปิดเผย “Wallet Address” ของแฮกเกอร์ พร้อมขอความร่วมมือจากเหล่านักขุด (Miner) และ Exchange ต่าง ๆ แบน (Banned) เหรียญที่อาจถูกส่งมาจาก Wallet ของแฮกเกอร์ ซึ่งทางบริษัท Tether ซึ่งเป็นเจ้าของเหรียญ USDT ได้ทำการ freeze (ล็อค) เหรียญ USDT กว่า 33 ล้านดอลลาร์ ที่แฮกเกอร์ได้ไปทันที
อีกทั้งทาง PolyNetwork ยังพยายามเจรจากับ Hacker ให้นำเงินมาคืน เพราะว่าหากไม่คืนก็จะกลายเป็นคดีอาญาที่ร้ายแรง อีกทั้งตอนนี้ Wallet ของแฮกเกอร์ก็กำลังถูกจับตามองอยู่ด้วย
นอกจากนี้ แฮกเกอร์ยังทำการส่งข้อความ เพื่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการเปิดขอรับบริจาคสำหรับผู้ที่เห็นด้วยกับการเจาะระบบในครั้งนี้ รวมถึงถามวิธี Unlock USDT พร้อมทั้งแจ้งว่าจะทำการคืนเงินให้ทั้งหมด โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ทาง Hacker ได้ทำการคืนเงินแล้วทั้งหมด ขาดเพียงเหรียญ USDT 33 ล้านเหรียญ ที่ยังไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ ได้
จะเห็นได้ว่ามีการโดนโจมตีจาก Hacker ในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นประจำ ซึ่งทาง “Kyros Venture” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลการถูกแฮ็ก โดยจะเห็นว่าว่าเหตุการณ์ถูกแฮ็ก “MTGOX” Exchange เมื่อช่วงต้นปี 2014 ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างบิทคอยน์ปรับตัวร่วงลงในทันที แต่เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “PolyNetwork” ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้มีการปรับตัวร่วงลงแรงเช่นนั้น แสดงถึงเสถียรภาพของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
*Coinbase ประกาศงบ ไตรมาส 2 ปี 2021 ฟาดกำไรไป 1,600 ล้านดอลลาร์
เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาบริษัท Coinbase ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq สหรัฐอเมริกา ได้ออกมาประกาศงบ ไตรมาส 2 ปี 2021 ที่ทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,033 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคิดเป็นกำไรถึง 1,606 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าไตรมาส 1 ที่เคยทำกำไรไว้ที่ 771 ล้านดอลลาร์ โดยรายได้กว่า 95% มาจากค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมบนแพลตฟอร์มของ coinbase
ทั้งนี้ ในคำอธิบายงบยังได้แสดงถึง “จำนวนผู้ใช้งานรายเดือน” ที่เพิ่มขึ้นถึง 8.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 44% จากไตรมาสที่ 1 ประกอบด้วยผู้ใช้บริการที่ทำการยืนยันตัวตนแล้ว (KYC) ถึง 68 ล้านบัญชีและไม่เพียงแค่ผู้ใช้บริการรายย่อยเท่านั้น Coinbase ยังมีลูกค้าสถาบันที่ใช้บริการอยู่อีกมากกว่า 9,000 องค์กร
นอกจากนี้ ในรายงานยังแจ้ง มูลค่าสินทรัพย์ที่หมุนเวียนอยู่ในแพลตฟอร์ม ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2564 โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.8 แสนล้านดอลาร์ โดยมูลค่าของสินทรัพย์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มของ Coinbase คิดเป็น 11.2% ของมูลค่าตลาดรวมของสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งหมด (Crypto Market Cap)
*JTS ปรับโฉมใหม่ ทั้งเปลี่ยนชื่อ แถมเพิ่มวัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจ
ล่าสุด “JTS” หรือ บริษัท จัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็น 1 ในบริษัทลูกของหุ้น “JAS” บมจ. จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เปิดเผยว่าที่ ประชุมคณะกรรมการ ได้มีมติเห็นชอบให้ทำการแก้ไข เพิ่มเติม วัตถุประสงค์ของบริษัทฯ เพื่อรองรับการประกอบธุรกิจในอนาคต ซึ่งมตินี้ก็จะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
โดยเนื้อหาของวัตถุประสงค์ที่เพิ่มเติมขึ้นมา ก็จะครอบคลุมถึงการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคตธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล นายหน้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล ผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี ผู้ค้าซื้อขายโทเคนดิจิทัล เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ ผู้ประกอบการธุรกิจหรือบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล
ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินสกุลดิจิทัลหรือขายเงินสกุลเงินดิจิทัล ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการขุด ซื้อขาย แลกเปลี่ยน สินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการลงทุนหรือให้บริการด้านอื่นๆเกี่ยวกับธุรกรรมคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล (เมื่อได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว กรณีที่เป็ นกิจกรรมที่ต้องได้รับอนุญาต)
ให้บริการเก็บข้อมูลประมวลผลตรวจสอบ และยืนยันข้อมูลบนระบบโครงข่ายกระจายศูนย์กลาง ของการทำรายการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แบบบล็อกเชน และดำเนินการค้นคว้า วิจัย พัฒนา และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกิจการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (INFORMATION TECHNOLOGY) ในการเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญความเชี่ยวชาญในด้านวิชาการและเทคโนโลยี”
นอกจากนี้อนุมัติให้บริษัทเห็นควรให้เปลี่ยนชื่อ เป็น บริษัท จัสมิน เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งยังคงใช้ชื่อย่อหุ้น JTS และตราประทับของบริษัทฯ.เพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบริษัทฯ รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้องกับชื่อของบริษัทฯ และตราประทับของบริษัทฯ และให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติ ในวันที่ 8 ต.ค.2564
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ส.ค. 64)
Tags: Cryptocurrency, DeFi, Poly Network, คริปโทเคอร์เรนซี, สกุลเงินคริปโต, สกุลเงินดิจิทัล