INTERVIEW: BA บินฉิว!! ยอดจองทะลัก ทุ่มทุนเพิ่มเครื่องบิน-ขยาย”สมุย” ผนึก THAI ผุดศูนย์ซ่อม

รัฐบาลกำหนดเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 68 ที่ 40 ล้านคนฟื้นกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด จากปีนี้คาดปิดที่ 36 ล้านคน หลังจาก 11 เดือนแรกต่างชาติเข้ามา 31 ล้านคนแล้ว ธุรกิจสายการบินได้รับอานิสงส์เต็มที่ โดยเฉพาะ “บางกอกแอร์เวย์ส” โชว์ผลงาน 9 เดือนปี 67 กำไรสุทธิ 3.26 พันล้านบาท สูงกว่าทั้งปี 66 ที่มีกำไร 3.11 พันล้านบาท และเทียบกับปีก่อนโควิด (ปี 62) ที่มีกำไรสุทธิ 357 ล้านบาท

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ให้สัมภาษณ์กับ “อินโฟเควสท์” ว่า หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด บางกอกแอร์เวย์ส กลับมาบินเกือบ 100% แม้จะยังไม่ได้บินทุกเส้นทางเท่ากับช่วงก่อนโควิด อีกทั้งจำนวนเครื่องบินน้อยกว่าเกือบครึ่ง จาก 40 ลำเหลือแค่ 23 ลำ เป็นเครื่องบินแอร์บัส A320/A319 จำนวน 13 ลำ และเครื่องบินใบพัด ATR จำนวน 10 ลำ ทำให้จำนวนเที่ยวบินไม่ได้กลับไปเท่าในอดีต แต่ผลการดำเนินงานกลับออกมาออกมาดีมาก อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) ดีขึ้นชัดเจนมาที่ 80% จากเดิมทำได้ 60% และในข่วง 9 เดือนแรกบริษัททำกำไรได้ดีกว่าช่วงก่อนโควิดมาก

สำหรับปี 68 เราคาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 10% ตามยอดจองตั๋วล่วงหน้า 11 เดือนที่เติบโต 10-12% โดยเป็นการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสมุย มียอดจองตั๋วเติบโตถึง 25% แสดงให้เห็นว่า “สมุย” เป็นเส้นทางยอดฮิต และเป็นเส้นทางที่มีสัดส่วนรายได้ถึง 65% ของรายได้รวม บริษัทจึงมีแผนเพิ่มจำนวนเครื่องบินอีก 2 ลำเพื่อรองรับการเพิ่มเที่ยวบินเข้าสมุย อย่างไรก็ดี ในช่วงไฮซีซั่นนี้ได้จัดหาเช่าเครื่องบินพร้อมนักบินให้ใช้ไปก่อนในระยะสั้น 4-5 เดือน

พร้อมกันนั้นบริษัทมีแผนขยายสนามบินสมุย วงเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพการรองรับเที่ยวบินเป็น 73 เที่ยวบิน/วัน จาก 50 เที่ยวบิน/วัน และรองรับผู้โดยสารเพิ่มจากปีละ 2.4-2.5 ล้านคน เป็น 6 ล้านคน ส่วนรันเวย์คงไม่สามารถขยายได้แล้ว

ส่วนแผนการขยายสนามบินตราด วงเงินลงทุน 700 ล้านบาท จะขยายทั้งรันเวย์ เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ จากปัจจุบันรองรับได้เพียงเครื่องบินใบพัด และจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้วย เนื่องจากบริษัทเห็นศักยภาพของจังหสวัดตราดที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต

นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า บริษัทกำลังออกเอกสารเชิญชวนผู้ผลิตเครื่องบินและส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามายื่นข้อเสนอการจัดหาเครื่องบินใหม่ในเร็วๆนี้ โดย BA ประเมินว่าอาจจะสั่งซื้อเครื่องใหม่กว่า 20 ลำ เพื่อทดแทนลำเก่าที่มีอายุการใช้งานมากแล้ว การได้เครื่องใหม่จะช่วยประหยัดต้นทุนน้ำมันและทำให้ฝูงบินทันสมัย และจะสามารถรองรับผู้โดยสารที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามการท่องเที่ยวไทยที่ขยายตัวได้ดี

*จับมือ THAI เพิ่มโอกาสธุรกิจ MRO

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนลงทุนต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน คือ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่จะเป็นธุรกิจใหม่ของบริษัท มองความเหมาะสมของพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากขณะนี้ธุรกิจการบินกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะที่ยังมีเครื่องบินจำนวนมากจอดรอซ่อม จึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ

BA จะร่วมลงทุนกับ บมจ.การบินไทย (THAI) เนื่องจาก THAI ได้รับจัดสรรพื้นที่ภายในสนามบินอู่ตะเภา จำนวน 200 ไร่จาก EEC โดยจะหารือในรายละเอียดสัดส่วนร่วมลงทุน ซึ่ง BA คาดว่าจะให้ THAI เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ รวมถึงหารือถึงขนาดโรงซ่อม และกำหนดเปิดให้บริการเป็นระยะ (เฟส) โดย THAI มีความชำนาญซ่อมเครื่องบินลำตัวกว้าง ส่วน BA ก็ถนัดซ่อมเครื่องบินลำตัวแคบ

“ได้มีโอกาสได้พูดคุยกัน เขาก็มีพื้นที่ที่ได้รับจาก EEC สามารถทำโรงซ่อมในอู่ตะเภา เขาก็ถามมาว่าเราสนใจร่วมมือกันไหม ก็มาพูดคุยกัน…น่าจะอีกไม่นาน เป็นความร่วมมือกัน มา Synergy มารวมกัน ก็น่าจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย” นายพุฒิพงศ์ กล่าว

*โครงการอู่ตะเภาฯ ยังรอออกสตาร์ท!!

ส่วนความคืบหน้าโครงการยยายสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมทั้งแบบก่อสร้าง และ Master Plan ที่จะก่อสร้างโครงการในเฟสแรก อาคารผู้โดยสารรองรับ 8 ล้านคน/ปี ลานจอด และเมืองการบินฯ โดยเบื้องต้นจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า จราจร พร้อมสร้าง Entertainment City เพื่อรองรับการเข้ามาใช้บริการพักผ่อน ช้อปปิ้ง มีร้านอาหาร และจะมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ที่มีผู้ร่วมทุน 3 ราย ได้แก่ BA ถือสัดส่วน 45% บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ถือหุ้น 35% และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) 20% ซึ่งล่าสุด UTA ได้เพิ่มทุนจาก 4,500 ล้านบาท เป็น 15,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในเฟสแรก

อย่างไรก็ดี UTA ยังอยู่ระหว่างรอหนังสือเริ่มงาน (NTP) รวมถึงการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินที่ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะดำเนินการโครงการนี้หรือไม่ จะเริ่มเมื่อใด และหากไม่ทำ จะปรับกันอย่างไร ส่วนเรื่องอื่นก็ต้องพิจารณาโครงการที่สนับสนุนเช่น งานก่อสร้างรันเวย์ 2 มีความคืบหน้าอย่างไร และการทำ EIA เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,