นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) อนุมัติหลักการมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้านและมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2567 เป็นต้นมา ประกอบด้วย
1. มาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้าน
ให้บุคคลธรรมธรรมดาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล) สำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมอาคารหรือทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยระหว่างวันที่ 16 ส.ค.- 31 ธ.ค. 67 และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,00 บาท
– ผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้เช่า หรือผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบกิจการ หรือใช้ประโยชน์อื่น
– ในกรณีที่ได้จ่ายค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินมากกว่า 1 แห่ง ให้รวมคำนวณค่าซ่อมแซมฯ ทุกแห่งเข้าด้วยกัน
2. มาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ
ให้บุคคลธรรมธรรมดาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล) สำหรับค่าซ่อมแซมหรือค่าวัสดุหรืออุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก (เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์) หรืออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในรถที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยระหว่างวันที่ 16 ส.ค.- 31 ธ.ค. 67 และอยู่ในพื้นที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 30,000 บาท
โดย ณ วันที่ 17 ต.ค. 67 พบว่า มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 256,405 ครัวเรือน และมีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (กรณีอุทกภัย) และการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) แล้วดังนี้
– จังหวัดที่มีการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย (กรณีอุทกภัย) มีจำนวน 49 จังหวัด 291 อำเภอ 1,358 ตำบล และ 8,367 หมู่บ้าน
– จังหวัดที่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (กรณีอุทกภัย) มีจำนวน 45 จังหวัด 262 อำเภอ 1,183 ตำบล และ 7,336 หมู่บ้าน
กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลายแล้ว ประกอบกับประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ดังนั้น เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้แก่บุคคลธรรมดาผู้ประสบอุทกภัย เห็นควรออกมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้านและมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ 1) ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้รับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิตามมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้าน 4 ล้านราย และผู้ใช้สิทธิตามมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมรถ 4 ล้านราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ย. 67)
Tags: ครม.สัญจร, คารม พลพรกลาง, น้ำท่วม, ผู้ประสบภัย, มาตรการภาษี