สบน.ปลื้ม! ยอดจองซื้อพันธบัตรยั่งยืนครั้งแรกในไทยทะลุ 5.5 หมื่นลบ. เกินเป้า 2.76 เท่า

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความต้องการลงทุน (Book Build) ในพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) เมื่อวันที่ 19 พ.ย.67 ได้รับความสนใจ จากนักลงทุนอย่างล้นหลาม โดยนักลงทุนมีการเสนอวงเงินซื้อพันธบัตรรวมทั้งสิ้น 55,285 ล้านบาท คิดเป็น 2.76 เท่าของวงเงินการอ อก 20,000 ล้านบาทที่ประกาศไว้ และทำให้ สบน. สามารถออก SLB ได้ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย 2.70% ต่อปี โดยมีนักลงทุนหลากหลายกลุ่มเข้าร่วม อาทิ กลุ่มบริษัทประกันชีวิต กลุ่มกองทุน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มบริษัทจัดการ สินทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ

“การออก SLB ในครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลไทย เป็นรัฐบาลประเทศแรกในเอเชีย และรัฐบาลที่ 3 ของโลก ที่ประสบความ สำเร็จในการออก SLB ต่อจากรัฐบาลของประเทศชิลี และอุรุกวัย” ผู้อำนวยการ สบน. ระบุ

ทั้งนี้ SLB ถือเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน โดยผู้ออก พันธบัตรจะต้องปฏิบัติตามตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ (KPIs) และเป้าหมายด้านความยั่งยืน (SPTs) ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า โดยในครั้งนี้ KPIs และ SPTs ประกอบด้วย

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
                  KPIs                                              SPTs
1. ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก                              ไม่เกิน 388,500 ktCO2e ในปี พ.ศ. 2573  
(ไม่รวมการใช้ประโยชน์จากที่ดินและป่าไม้)                        (คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก 30% 
                                                          จากค่า Business As Usual (BAU))

2. ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์            ไม่ต่ำกว่า 440,000 คัน ในปี 2573
(Zero Emission Vehicles : ZEVs) ประเภทรถยนต์นั่ง
และรถกระบะ 
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++  

ทั้งนี้ กรอบการระดมทุนของ SLB รุ่นแรกของรัฐบาลไทย ได้รับการรับรองจากบริษัท DNV (Thailand) ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบ อิสระภายนอกที่ยืนยันว่า KPIs และ SPTs ทั้งสองข้อมีความท้าทาย สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) และเป็นไปตามมาตรฐานการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนของสมาคมตลาดเงินทุนนานาชาติ (The International Capital Market Association: ICMA) และตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Market Forum : ACMF)

ในลำดับถัดไป สบน. จะดำเนินการรายงานผลการดำเนินงานและตรวจสอบความคืบหน้าของ SPTs อย่างต่อเนื่อง เพื่อ แสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสในกระบวนการดำเนินงานและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน รวมถึงจะดำเนินการออก SLB ให้เป็น Benchmark Bond รุ่นอายุ 15 ปี เพื่อเป็นพื้นฐานในการกำหนดราคาและเพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตรในตลาดรอง อันจะช่วยสนับสนุนการ พัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป

นายพชร คาดหวังว่าการออก SLB จะเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีสำหรับภาครัฐและภาคเอกชน ในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ ไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนในอนาคต พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้นานาประเทศ ถึงความมุ่งมั่นของไทยในการรับมือกับการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมความยั่งยืนในระยะยาว

“สบน. จะดำเนินการทางด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของรัฐบาล ไทย โดยในช่วงปลายปี 67 นี้ สบน. มีแผนที่จะดำเนินการออก Sustainability Loan เพื่อระดมทุนในการสนับสนุนโครงการขนส่ง พลังงานสะอาด และจะดำเนินหน้าที่ในการสนับสนุนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนของไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นไป” นายพชร ระบุ

ผู้อำนวยการ สบน.ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการออกพันธบัตรสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Bond : FCY) เช่น ดอลลาร์บอนด์ ว่า จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ แม้จะมีนักลงทุนต่างชาติสอบถามเข้ามาก โดยต้องดูจังหวะและระยะเวลา ที่เหมาะสม ซึ่งในขณะนี้มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทย อยู่ที่ 2.50% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ย สหรัฐฯ อยู่ที่ราว 4% ต่างกันเกือบเท่าตัว

“ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยตรงนี้ ยังเยอะเกินไป และตามกฎหมายระบุว่า หากจะดำเนินการออก FCY จะต้องมีการระบุ ชัดเจนว่าจะนำเงินไปใช้ในโครงการอะไร ไม่สามารถนำมาใส่ไว้ในงบชดเชยขาดดุลได้” นายพชร กล่าว

นอกจากนี้ จากงบชดเชยขาดดุลในปีงบประมาณ 2568 ที่ 8.25 แสนล้านบาทนั้น สบน. มีแผนในการกู้ชดเชยขาดดุล ผ่าน การออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ เช่น การออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN), การทำ Bond Switching รวมทั้งมีแผนจะออกพันธบัตรออม ทรัพย์ วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท โดยในไตรมาส 2 ของปีงบประมาณ 2568 (ไตรมาส 1/2568) คาดว่าจะออกจำหน่ายพันธบัตรออม ทรัพย์ วงเงิน 3-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจาณาถึงสถานะเงินคลัง รวมถึงสถานการณ์ตลาดในช่วงเวลานั้นด้วย รวมถึงอยู่ ระหว่างการศึกษาเพื่อสร้างนวัตกรรมเพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ย. 67)

Tags: , , , , , ,