เปิดมุมมองสภาพัฒน์ ไทยต้องทำอย่างไร หากจะใช้ “Negative Income Tax”

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ เรื่อง “ภาษีเงินได้แบบติดลบ (Negative Income Tax: NIT)” ซึ่งเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด และเป็นการรวมระบบการหารายได้ และการให้ความช่วยเหลือไว้ในระบบเดียว ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้รูปแบบหนึ่ง

ทั้งนี้ มีข้อค้นพบจากการนำ NIT มาประยุกต์ใช้ในประเทศต่าง ๆ ดังนี้

– แต่ละประเทศนำ NIT มาประยุกต์ใช้ในวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน อาทิ ออสเตรเลีย นำ NIT มาใช้ในรูปแบบภาษีสำหรับครอบครัว (Family Tax Benefit: FTB) เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนรายได้น้อยในการเลี้ยงดูบุตร

– การกำหนดขนาดของสิทธิประโยชน์/เงินช่วยเหลือ กับผู้มีรายได้น้อยที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการลดความยากจนแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มประชากร อาทิ โครงการ Earned Income Tax Credit (EITC) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เครดิตภาษีคืนตามการมีบุตร ทำให้สัดส่วนคนจนของครัวเรือนที่ไม่สมรส และมีสมาชิกที่เป็นเด็ก 3 คน ลดลงถึง 20.2% ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่สมรส และไม่มีเด็ก ลดลงเพียง 1.5%

– NIT มีส่วนในการกระตุ้นให้ผู้มีรายได้น้อยทำงาน แต่เงื่อนไขบางประการอาจลดแรงจูงใจในการทำงานเพิ่ม อาทิ กรณี Workfare Income Supplement (WIS) ของประเทศสิงคโปร์ ประเมินคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ได้รับ WIS จากรายได้รวมต่อเดือน ซึ่งครอบคลุมถึงค่าล่วงเวลา โบนัส และค่าคอมมิชชัน จึงส่งผลให้แรงงานส่วนหนึ่งลดการทำงานล่วงเวลาลงจากเดิม

– เงื่อนไขและระบบที่ซับซ้อน เป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงการช่วยเหลือของประชาชน อาทิ เงื่อนไข FTB ของประเทศออสเตรเลีย มีการตรวจสอบทั้งรายได้สุทธิ จำนวน และอายุบุตร ระยะเวลาที่ใช้ในการดูแลบุตร การนำบุตรไปรับวัคซีนตามกำหนด ทำให้ครัวเรือนบางส่วนเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะในกรณีที่พ่อแม่แยกทางกัน

– ประเทศที่สามารถนำ NIT มาประยุกต์ใช้และยังสามารถดำเนินการต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนแรงงานนอกระบบต่ำ อาทิ ประเทศสวีเดนที่มีสัดส่วนเพียง 3.3% ขณะที่ประเทศที่เคยนำ NIT มาประยุกต์ใช้แต่ปัจจุบันยกเลิก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากข้อจำกัดด้านงบประมาณ

อย่างไรก็ดี แม้การนำ NIT มาปรับใช้ จะมีประโยชน์ทั้งกับประชาชน และภาครัฐ แต่ยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ได้แก่

1. การกำหนดวัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการให้ความช่วยเหลือให้มีความชัดเจน บนพื้นฐานบริบทของประเทศไทย

2. การกำหนดเกณฑ์รายได้ และระดับการช่วยเหลือให้มีความเหมาะสม โดยต้องมีการศึกษาเพื่อให้สามารถกำหนดเกณฑ์รายได้ที่สามารถจูงใจให้คนทำงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม รวมถึงต้องมีการทบทวนเกณฑ์เป็นระยะ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ

3. การจัดเตรียมงบประมาณเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินการ NIT และศึกษาผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และภาระทางการคลัง อาทิ การพิจารณายกเลิกบางมาตรการที่มีความซ้ำซ้อนของสวัสดิการ โดยรวมการช่วยเหลือเป็นระบบเดียว ควบคู่ไปกับการดึงผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ให้เข้าระบบภาษี พร้อมกับกำหนดบทลงโทษ และบังคับใช้อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันแรงจูงใจในการกระทำผิด (Moral hazard)

“การที่ไทยจะทำ NIT ได้นั้น ต้องนำคนนอกระบบมาอยู่ในระบบก่อนถึงจะทำได้ ต้องมีแรงจูงใจแรงงานนอกระบบ ให้เห็นว่าการเข้าระบบภาษีจะเป็นประโยชน์ โดยเฉพาะสวัสดิการที่จะได้รับ ซึ่งต้องมีการออกแบบตัวระบบให้ดี ต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด ทั้งเกณฑ์รายได้ และระดับให้การช่วยเหลือว่าควรจะเป็นเท่าไร เพื่อให้เกิดแรงจูงใจเข้ามาในระบบ ในต่างประเทศ ภาษีเป็นหน้าที่เกิดมาทุกคนอยู่ในระบบ แต่ของไทยมีความแตกต่างในแง่ของแนวคิด และทัศนคติ ดังนั้น การนำระบบมาใช้ต้องศึกษาอย่างละเอียด ว่าจะจูงใจอย่างไร” นายดนุชา กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ย. 67)

Tags: , , , ,