ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงมติรับหลักการร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 เพื่อนำไปชำระหนี้ให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) จำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท โดยให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ จำนวน 24 คน กำหนดเวลาแปรญัตติ 10 วันทำการ และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน
โดยวันนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ได้ร่างข้อบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม. เนื่องจากต้องการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่จะครบกำหนดในวันที่ 21 ม.ค.68 โดยเป็นการจ่ายขาดจากเงินสะสมของ กทม. และขณะนี้ระยะเวลาได้ผ่านล่วงเลยมามีผลให้ กทม.ต้องชำระดอกเบี้ยอันเกิดจากความล่าช้าในการชำระหนี้ดังกล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ฝ่ายบริหารฯ ได้พิจารณาเรื่องการชำระหนี้เป็นไปตามขั้นตอนทุกประการ เพื่อให้เกิดความรอบคอบที่สุดโดยไม่มีการเร่งรัดกระบวนการเพราะกังวลเรื่องเสียค่าปรับ โดยขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะดูแลเงินภาษีของประชาชนอย่างดีที่สุด ส่วนตัวไม่กังวลเรื่องมาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ เนื่องจากได้ดำเนินการตามขั้นตอนทุกประการ และผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสภา กทม.
ขณะนี้ กทม.มีเงินสะสมอยู่ประมาณ 50,000 ล้านบาท จึงเพียงพอที่จะจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าว 14,549,503,800 บาท โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของ กทม. นอกจากนี้หากสภา กทม.พิจารณาให้จ่ายหนี้ไปยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้น GDP ในช่วงปลายปีอีกทางด้วย เนื่องจากภาคเอกชนจะนำไปเป็นทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ เช่น จ่ายผู้รับเหมา จ่ายแรงงาน
ในส่วนของสำนวนที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งมาให้ กทม.นั้น ห้ามมิให้เปิดเผยสำนวนการไต่สวน โดยเฉพาะชื่อผู้กล่าวหา ผู้แจ้งเบาะแส และผู้ซึ่งเป็นพยาน หรือการกระทำใด ๆ อันให้ทราบถึงรายละเอียด ตามมาตรา 36 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ดังนั้น กทม. จึงยังไม่สามารถส่งสำนวนให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาได้ เนื่องจาก ป.ป.ช. ยังไม่อนุญาต แต่ข้อกังวลเรื่องนี้ก็ตกไปเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วจนนำมาซึ่งคำสั่งให้ กทม.ชำระหนี้จำนวนดังกล่าว
“ขณะนี้เรามองไปถึงอนาคตที่ยังมีหนี้อีก 1 ก้อน ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง รวมถึงสัมปทานที่ให้เอกชนดำเนินการเดินรถฯ ที่จะหมดลงในปี 2572 ทำให้การเดินรถ BTS ช่วงไข่แดง (ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทางรวม 23.5 กม. 24 สถานี) ก็จะกลับมาเป็นของ กทม.ทั้งหมด ทั้งส่วนของรายได้และตัวโครงสร้าง กทม.จึงต้องเตรียมวางแผนเรื่องจ้างที่ปรึกษาฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนต่อไป โดยต้องผ่านกระบวนการคิดร่วมกับสภากรุงเทพมหานครให้รอบคอบตามประเด็นข้อบัญญัติต่าง ๆ ของกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นคดีความต่อไปในอนาคต” นายชัชชาติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ย. 67)
Tags: BTSC, กทม., กรุงเทพมหานคร, งบประมาณรายจ่าย, ประชุมสภากรุงเทพมหานคร, รถไฟฟ้าบีทีเอส, ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ