ZoomIn: ทำความรู้จัก “ภาษีคาร์บอน” จุดเปลี่ยนที่โลกต้องให้ความสำคัญ (ตอนที่ 1)

ในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นประเด็นที่คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้นโดยเฉพาะภาวะโลกร้อน (Global Warming) ที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ และเริ่มมองหานโยบายหรือมาตรการอย่างจริงจังเพื่อช่วยกู้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ โดยเริ่มจากความพยายามที่จะลดการปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นหนึ่งของก๊าซเรือนกระจกต้นเหตุของมลภาวะทางอากาศอย่างจริงจัง หลายประเทศที่มีบทบาทในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ต่างให้ความสำคัญกับการใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม และอาจหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาใช้เป็นหนึ่งในนโยบายกีดกันทางการค้า หรือเรียกให้ดูดีว่าเป็นมาตรฐานการค้าของโลกยุคใหม่ ภายใต้ชื่อว่า “ภาษีคาร์บอน”

ทำความรู้จัก “ภาษีคาร์บอน”

ภาษีคาร์บอน คือ “ภาษี” ที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ และองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน เป็นต้น ที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า การบำบัดน้ำเสีย การใช้รถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการตัดไม้ เป็นต้น

หลักการของภาษีคาร์บอน คือ ผู้ที่ปล่อยคาร์บอนและก่อให้เกิดผลกระทบต่อภายนอก ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในรูปแบบของ “ภาษีคาร์บอน” โดยผลกระทบอาจเกิดขึ้นกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น ๆ เช่น ผลกระทบต่อชุนชนจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ ด้านความเสื่อมและลดลงของทรัพยากร และด้านความเสื่อมของอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิน ซึ่งค่าใช้จ่ายจากผลกระทบเหล่านี้ ผู้ปล่อยคาร์บอนจะต้องมีส่วนรับผิดชอบ

โดยทั่วไปแล้วรูปแบบของการเรียกเก็บภาษีคาร์บอน จะนำปริมาณคาร์บอนส่วนเกิน มาคำนวณกับอัตราภาษีคาร์บอน ซึ่งแต่ละประเทศจะมีฐานภาษีที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่จะแบ่งภาษีออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. ภาษีคาร์บอนทางตรง คือ เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการผลิตสินค้าโดยตรง ซึ่งมักจะมีอัตราภาษีที่สูงกวา เช่น การผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล, การเผาไหม้ของเครื่องจักรในโรงงาน, การเผาขยะและการบำบัดน้ำเสีย, การเผาไหม้ของยานพาหนะ, การผลิตปูนซีเมนต์และเคมีภัณฑ์ต่าง ๆ

2. ภาษีคาร์บอนทางอ้อม คือ เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามการบริโภค แต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง เช่น การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, เฟอร์นิเจอร์, เหล็ก, หมึกพิมพ์, กระดาษ, บรรจุภัณฑ์ และหมึกพิมพ์ เป็นต้น

นอกจากภาษีคาร์บอนภายในประเทศแล้ว ปัจจุบันยังมีภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Tax) เป็นภาษีนำเข้าสินค้าที่เรียกเก็บจากประเทศที่ไม่มีการบังคับใชกฎหมายภาษีคาร์บอน ซึ่งผู้ประกอบการในประเทศใดที่ไม่มีมาตรการทางภาษี สุดท้ายแล้วก็ต้องหันมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง หากยังต้องการค้าขายกับประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันหลายภาคส่วนทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญกับการตั้งเป้าหมายลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก และการดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีต้นทุนหรือราคาที่ต้องจ่าย เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ที่จะช่วยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการหันมาใช้พลังงานสะอาด และลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี กลไกราคาคาร์บอน มีทั้งรูปแบบภาคบังคับที่ภาครัฐมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดราคาคาร์บอน หรือควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และภาคสมัครใจที่ไม่ได้มีกฎหมายมาบังคับ แต่เกิดจากความร่วมมือกันของภาคธุรกิจที่มีความประสงค์จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ

โดยขณะนี้ หลายประเทศได้เริ่มใช้ หรือมีความพยายามที่จะนำกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับมาใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการจัดตั้งระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 67)

Tags: , ,