สศก.ปลื้มผลสำเร็จ 6 แผนแม่บทย่อยด้านการเกษตร หนุนยกระดับการผลิต-เพิ่มมูลค่าสินค้า-สร้างรายได้

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่มีเป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตรเพิ่มขึ้น และผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นประสบความสำเร็จเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยภาพรวมสามารถดำเนินการได้ 106% ของเป้าหมาย

โดยแผนแม่บทฯ ประกอบด้วย 6 แผนย่อย ได้แก่

1) แผนแม่บทย่อยเกษตรอัตลักษณ์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ 105 จังหวัดสุรินทร์ สามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดสุรินทร์ได้ในราคาเฉลี่ย 17 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าการจำหน่ายในตลาดทั่วไปที่มีราคาเฉลี่ย 12 บาทต่อกิโลกรัม (สูงกว่าเดิม 5 บาท) มีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย 250,567 เมตร คิดเป็นมูลค่า 643 ล้านบาท

2) แผนแม่บทย่อยเกษตรปลอดภัย ภาพรวมมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัย (สินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์) เฉลี่ยที่ 4,243,444 บาทต่อปี จากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการที่ได้ 4,410,864 บาทต่อปี (ลดลงเฉลี่ย 167,420 บาทต่อปี หรือลดลง 4%) เนื่องจากสินค้าปศุสัตว์ได้รับผลกระทบจากโรคประจำถิ่นทำให้ผลผลิตลดลง อย่างไรก็ตาม พบว่า สินค้าประมงมีมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัยเพิ่มขึ้นเป็น 2,709,611 บาทต่อปี จากเดิมก่อนเข้าร่วมโครงการที่ได้ 2,586,697 บาทต่อปี (เพิ่มขึ้น 122,914 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 5%)

3) แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ เกษตรกรนำความรู้ด้านสมุนไพรและแมลงเศรษฐกิจไปใช้ ส่งผลให้มีผลผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยเพิ่มขึ้น 83% ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง 41% โดยเกษตรกร 92% มีรายได้สูงขึ้นหลังจากเข้าร่วมโครงการ เนื่องมาจากการเพิ่มพื้นที่การปลูก/เลี้ยง ตลอดจนนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ จึงส่งผลให้มีรายได้สูงขึ้น

4) แผนแม่บทย่อยเกษตรแปรรูป สถาบันเกษตรกรได้รับการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เช่น ข้าวสาร มังคุดกวนสามรส ปลาส้ม และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำนมโค โดยสถาบันเกษตรกรมีมูลค่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเฉลี่ย 527,375 บาทต่อเดือน จากเดิม 315,333 บาทต่อเดือน (เพิ่มขึ้น 212,042 บาทต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้น 67%) ซึ่งเป็นการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์สินค้าให้มีความสวยงาม เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า

5) แผนแม่บทย่อยเกษตรอัจฉริยะ มูลค่าสินค้าเกษตรจากการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมการเกษตรไปปรับใช้ ส่งผลให้แปลงเกษตรกรต้นแบบมีมูลค่าสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าปาล์มน้ำมันมีมูลค่า 25,620 บาทต่อไร่ จากเดิม 18,910 บาทต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 6,710 บาทต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 35%) และมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้นเป็น 4,200 กิโลกรัมต่อไร่ จากเดิม 3,100 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 1,100 กิโลกรัมต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 35%)

6) แผนแม่บทย่อยการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร เกษตรกรเริ่มมีการปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเป็นสินค้าอื่นที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ตาม Agri-Map เช่น เกษตรผสมผสาน หญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่าเมื่อได้รับผลผลิตแล้ว จะได้มูลค่าผลผลิต 5,693 บาทต่อไร่ จากเดิมที่ปลูกข้าวได้มูลค่าผลผลิต 3,190 บาทต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 2,503 บาทต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 78%) และมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,949 บาทต่อไร่ จากเดิม 2,711 บาทต่อไร่ (เพิ่มขึ้น 2,238 บาทต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 83%) นอกจากนี้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแปลงใหญ่มีการรวมกลุ่มกันบริหารจัดการซื้อปัจจัยการผลิต รวมกลุ่มจำหน่าย ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายลดลงและมีผลผลิตเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้สุทธิ 4,080 บาทต่อไร่ต่อปี จากเดิมรายได้สุทธิ 2,404 บาทต่อไร่ต่อปี (เพิ่มขึ้น 1,676 บาทต่อไร่ต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 70%)

ทั้งนี้ เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทฯ บรรลุวัตถุประสงค์ต่อเนื่อง ควรจัดอบรมเพื่อเพิ่มความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ ให้สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ส่งเสริมองค์ความรู้เรื่องการจัดทำแผนการผลิต และแผนการเพาะปลูกให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาในการผลิต เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงโดยจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานและกิจกรรมในระดับพื้นที่ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเห็นถึงประโยชน์ของการได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร จัดกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายการตลาด และส่งเสริมการรวมกลุ่ม ยกระดับกลุ่มให้เป็นผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองราคากับผู้รับซื้อ โดย สศก.ยังคงติดตามโครงการสำคัญภายใต้แผนแม่บทด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ย. 67)

Tags: , , ,