นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และร่าง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ.1948 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ค.ศ.1949 ซึ่งเป็นการยกระดับสิทธิพื้นฐานของแรงงานตามมาตรฐานสากลที่มีการเรียกร้องในประเทศไทยมากว่า 30 ปี
“ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้เสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หาก ครม.เห็นชอบก็จะส่งให้ สส.และ สว.พิจารณา เพื่อประกาศเป็นกฎหมายต่อไป ถึงตอนนั้นประเทศไทยจึงจะให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับกับ ILO ได้” นายภูมิพัฒน์ กล่าว
สำหรับการหารือกับคณะกรรมการบริหารองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งมีผู้แทนของสภาองค์การลูกจ้าง 10 แห่งเข้าร่วมนั้น รมว.แรงงานได้ยืนยันด้วยว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทอย่างแน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจบ้าง แต่จะพยายามให้กระทบน้อยที่สุด และต้องไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อยอย่างเช่นพี่น้องเกษตรกร ซึ่งในอนาคตอาจมีการปรับขึ้นค่าจ้างตามภาวะเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานกรรมการค่าจ้างไปศึกษารูปแบบและกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมร่วมกับกรรมการฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล อย่างไรก็ตาม การประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำครั้งต่อไปอยู่ระหว่างเสนอชื่อผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 2 คน เพื่อให้ ครม.แต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ และจะนัดหมายประชุมคณะกรรมการไตรภาคีโดยด่วนต่อไป
นอกจากนี้ รมว.แรงงาน ได้กำชับให้ดูแลการแก้ไขปัญหาลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือทุกกรณี เช่น กรณีบริษัท ฟูไน (ไทยแลนด์) จำกัด จ.นครราชสีมา ประกาศปิดกิจการ ทางประกันสังคมได้จ่ายเงินชดเชยกรณีว่างงานแก่ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนรายละ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาแนวทางรับมือกับปัญหาลูกจ้างของบริษัทผลิตรถยนต์ประเภทสันดาปที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มากขึ้นด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ย. 67)
Tags: กระทรวงแรงงาน, ค่าจ้างขั้นต่ำ, พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์, ภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์, รัฐวิสาหกิจ