Berkshire Hathaway ของปู่บัฟเฟตต์ปรับพอร์ต Q3 ขาย Apple ซื้อ Domino’s Pizza

เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) ของมหาเศรษฐีวอร์เรน บัฟเฟตต์ เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี (14 พ.ย.) ว่า บริษัทได้ลงทุนในโดมิโน่ส์ พิซซ่า (Domino’s Pizza) และพูล คอร์ป (Pool Corp) ในไตรมาสที่ 3/2567 พร้อมกับถอนการลงทุนจากหุ้นอย่างแอปเปิ้ล (Apple) และแบงก์ ออฟ อเมริกา (Bank of America)

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ณ วันที่ 30 ก.ย. 2567 เบิร์กเชียร์ถือหุ้นโดมิโน่ส์ พิซซ่า จำนวน 1.28 ล้านหุ้น มูลค่าประมาณ 549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และถือหุ้นพูล คอร์ป ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์สระว่ายน้ำ จำนวน 404,000 หุ้น มูลค่าประมาณ 152 ล้านดอลลาร์

การลงทุนดังกล่าวได้รับการเปิดเผยในเอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ซึ่งแสดงรายละเอียดการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ของเบิร์กเชียร์ ณ วันที่ 30 ก.ย.

หลังจากการเปิดเผยข้อมูลของเบิร์กเชียร์ ราคาหุ้นโดมิโน่ส์พุ่งขึ้น 6.9% และราคาหุ้นพูล คอร์ป พุ่งขึ้น 5.7% ในการซื้อขายหลังปิดตลาด

เบิร์กเชียร์ยังคงเดินหน้าลงทุน แม้บัฟเฟตต์กำลังอยู่ในช่วงสะสมเงินสด โดย ณ วันที่ 30 ก.ย. เบิร์กเชียร์มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า แตะที่ระดับ 3.25 แสนล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ เบิร์กเชียร์ยังได้หยุดโครงการซื้อหุ้นคืนของบริษัทเองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2561 อีกด้วย

ในไตรมาสที่สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. เบิร์กเชียร์ขายหุ้นมูลค่า 3.61 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ซื้อหุ้นเพียง 1.5 พันล้านดอลลาร์ ส่วนภาพรวมตลอดทั้งปี เบิร์กเชียร์ขายหุ้นไปแล้วถึง 1.33 แสนล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นหุ้นแอปเปิ้ล ตามมาด้วยแบงก์ ออฟ อเมริกา ขณะที่ซื้อหุ้นเข้าพอร์ตเพียง 5.8 พันล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่า บัฟเฟตต์อาจมองว่ามูลค่าหุ้นในตลาดสูงเกินไป ซึ่งอาจเป็นเหตุผลเบื้องหลังการปรับลดการลงทุนของเบิร์กเชียร์ แม้ตัวบัฟเฟตต์เองจะไม่ได้ระบุเหตุผลที่แน่ชัด แต่เรื่องภาษีก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่ง

นอกจากนี้ ในไตรมาสเดียวกัน เบิร์กเชียร์ยังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในไฮโก (Heico) ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน พร้อมกับขายหุ้นทั้งหมดในฟลอร์ แอนด์ เดคคอร์ (Floor & Decor) บริษัทค้าปลีกวัสดุปูพื้น และขายหุ้นบางส่วนในแคปปิตอล วัน (Capital One), ชาร์เตอร์ คอมมิวนิเคชันส์ (Charter Communications), นู โฮลดิงส์ (Nu Holdings) ผู้ให้บริการธนาคารดิจิทัลของบราซิล และอัลตา บิวตี้ (Ulta Beauty) บริษัทค้าปลีกเครื่องสำอาง

เป็นที่น่าสังเกตว่า เบิร์กเชียร์ขายหุ้นอัลตา บิวตี้ กว่า 96% ทั้งที่เพิ่งเข้าซื้อเข้าพอร์ตเมื่อเดือนส.ค. โดยราคาหุ้นอัลตา บิวตี้ ร่วงลงถึง 3.8% ในการซื้อขายหลังตลาดปิดทำการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 พ.ย. 67)

Tags: , ,