ข้อมูลที่เผยแพร่ในวันนี้ (13 พ.ย.) แสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อในภาคค้าส่งของญี่ปุ่นเร่งตัวขึ้นในเดือนต.ค. เนื่องจากสกุลเงินเยนที่อ่อนค่าลงอีกครั้งผลักดันต้นทุนการนำเข้าสินค้าบางรายการให้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เกี่ยวกับระยะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นมีความยากลำบากมากขึ้น
ข้อมูลจาก BOJ บ่งชี้ว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (CGPI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วัดราคาสินค้าและบริการที่บริษัทขายให้แก่กัน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 3.0% และสูงกว่าเดือนก.ย.ที่เพิ่มขึ้น 3.1%
ข้อมูลระบุว่า ดัชนีราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินเยนปรับตัวลง 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งลดลงน้อยกว่าเดือนก.ย.ที่ปรับตัวลง 2.5% อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีกลับปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.0% ซึ่งตรงข้ามกับเดือนก.ย.ที่ลดลง 2.8%
ข้อมูลระบุว่า ราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น ควบคู่กับต้นทุนของกลุ่มโลหะที่ไม่ใช่เหล็ก อาหาร และน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่ผลักดันเงินเฟ้อในภาคค้าส่งโดยรวมให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณว่า บริษัทต่าง ๆ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ BOJ ได้ยุติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือนมี.ค. และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเป็น 0.25% ในเดือนก.ค. โดยมองว่าญี่ปุ่นกำลังมีความคืบหน้าไปสู่การบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ เน้นย้ำถึงความพร้อมของธนาคารที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง หากเงินเฟ้อถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่งและค่าจ้างที่สูงขึ้น มากกว่าที่จะเกิดจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 พ.ย. 67)
Tags: BOJ, ญี่ปุ่น, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, เงินเฟ้อ