น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงต่อเวทีการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 10 ที่มีผู้นำ 5 ประเทศ คือ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และไทย ว่า สมาชิกทั้ง 5 ประเทศเป็นเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและเกื้อกูลกัน มีผลประโยชน์และศักยภาพร่วมกันในด้านต่าง ๆ ขณะเดียวกันก็เผชิญกับความท้าทายร่วมกัน ทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน มลพิษทางอากาศ และภัยธรรมชาติอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประชุมในวันนี้จึงควรร่วมกันพิจารณานำกรอบความร่วมมือ ACMECS มาใช้ในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยเสนอ 3 แนวทางเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ภายใต้กรอบ ACMECS ดังนี้
ประการที่ 1 ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ายาเสพติดและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งตามรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ในปี 2566 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการยึดเมทแอมเฟตามีนได้มากถึง 170 ตัน และเคตามีน 22 ตัน ขณะเดียวกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ยังได้กลายเป็นภัยคุกคามที่สำคัญในอนุภูมิภาค
ที่ผ่านมามีการรายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจในประเทศไทยระหว่างเดือน มี.ค.66-มี.ค.67 มีมูลค่าสูงกว่า 1.8 พันล้านดอลลาร์ ไทยจึงขอสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกใช้กลไกตามกรอบความร่วมมือต่าง ๆ อาทิ ปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการสกัดกั้นการนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ในการผลิตยนาเสพติด การปราบปรามการผลิต การค้ายาเสพติด รวมถึงการเสริมสร้างพัฒนาความเข้มแข็งและยกระดับความร่วมมือในด้านต่าง ๆ และพร้อมที่จะเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดประชุมและพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ
ประการที่ 2 เรื่องมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ซึ่งช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่ปัญหามลพิษทางอากาศเริ่มกลับมามีความรุนแรง ประชากรกว่า 200 ล้านคนในอนุภูมิภาค หรือ 650 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของประชาชนลดลงประมาณ 1.5 ปี และเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ไทยจึงมุ่งมั่นดำเนินความร่วมมือกับประเทศสมาชิก เพื่อลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย 2560 ซึ่งเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา ไทยร่วมกับ สปป.ลาว และเมียนมา จัดพิธีเปิดตัว “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” เพื่อเป็นหนึ่งในต้นแบบความร่วมมือในการร่วมกันแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการเชียงรายฯ และเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นภูมิภาคอาเซียนที่ปลอดหมอกควันภายในปี 2573
ประการสุดท้าย เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมามีประชาชนกว่า 5 ล้านคนในอนุภูมิภาคต้องเผชิญกับผลกระทบจากไต้ฝุ่น “ยางิ” โดยมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 16,600 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สถิติ แต่เป็นชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สิน และเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
พร้อมเน้นย้ำถึงการบริหารจัดการน้ำในอนุภูมิภาค ซึ่งถือเป็นประเด็นเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ โดยไทยได้เสนอเอกสารแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บท ACMECS เพื่อเป็นแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ACMECS ในโอกาสแรก เพื่อร่วมกำหนดท่าทีในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากทุกกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ACMECS ควรเร่งรัดจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างเร่งด่วนและระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่าง ๆ ภายใต้แผนแม่บท ACMECS โดยไทยยืนยันคำมั่นที่จะสนับสนุนเงินให้แก่กองทุนฯ และหวังอย่างยิ่งว่าจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับกลไกการบริหารกองทุนฯ ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2568 เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม พร้อมเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกและประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ตลอดจนประเทศที่มีศักยภาพ องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสถาบันการเงินต่าง ๆ ร่วมสมทบกองทุนฯ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนต่อไป
โดยครั้งนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ (Vientiane Declaration) ของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 และ (2) ร่างเอกสารแนวคิด (Concept Note) เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บทฯ โดยไทยเป็นผู้เสนอ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 67)
Tags: ACMECS, นายกรัฐมนตรี, แพทองธาร ชินวัตร