IMF ชี้ อาเซียนได้อานิสงส์จากความตึงเครียดทางการค้าจีน-สหรัฐฯ

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ระบุว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แม้จะยังคงมีความเสี่ยงจากการแตกแยกทางการค้าอยู่ก็ตาม

IMF ระบุว่า อาเซียนได้ประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์มาอย่างยาวนาน ผ่านการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าที่แข็งแกร่งกับทั้งสหรัฐฯ และจีน แม้ความตึงเครียดระหว่างสองชาติจะย่ำแย่ลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่สมาชิกอาเซียนก็สามารถปรับตัวและยังคงผนวกรวมเข้ากับเศรษฐกิจโลกในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง

“แม้จะมีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนยังคงเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับทั้งจีนและสหรัฐฯ” รายงานระบุ “ยิ่งไปกว่านั้น ภูมิภาคนี้ยังสามารถคว้าโอกาสจากการเบี่ยงเบนทางการค้า (Trade Diversion) ที่มีสาเหตุมาจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน”

IMF เสริมว่า การวิเคราะห์เชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่า หลายประเทศในอาเซียนมีการส่งออกสินค้าที่ถูกตั้งกำแพงภาษีโดยจีนหรือสหรัฐฯ ขยายตัวเร็วกว่าสินค้าที่ไม่มีกำแพงภาษี

นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังส่งออกสินค้าที่ถูกกำหนดภาษีนำเข้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นไปยังประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากจีนและสหรัฐฯ ซึ่ง IMF มองว่าอาเซียนไม่เพียงได้ประโยชน์จากการเบี่ยงเบนการค้าเท่านั้น แต่ยังสามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยได้เมื่อผลิตในปริมาณมากขึ้น อีกทั้งการค้าระหว่างอาเซียนเองก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ในภาพรวม IMF กล่าวว่าแนวโน้มเหล่านี้ช่วยให้อาเซียนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การส่งออกไปยังตลาดโลก และมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม รายงานของ IMF ระบุว่าผลประโยชน์จากการเรียกเก็บภาษีนำเข้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้การส่งออกของทุกประเทศในอาเซียนเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศสมาชิกอาเซียนบางแห่ง เช่น เวียดนาม ยอดการส่งออกขยายตัวอย่างแข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลกตั้งแต่ปี 2561 แต่ประเทศสมาชิกบางแห่ง เช่น ไทย กลับมียอดส่งออกที่ชะลอตัวหรือหยุดชะงัก เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

ทั้งนี้ IMF เตือนว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นยังอาจส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ในอนาคต

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 67)

Tags: ,