นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ตัวแทนของกระทรวงการคลัง หารือร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนว่า ในการหารือเบื้องต้น มีข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้เสียสำหรับรายย่อย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน แบ่งเป็น
1. การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้
2. การเข้าถึงสินเชื่อในระบบเพิ่มเติม โดยการให้ความช่วยเหลือนี้ จะเน้นไปที่กลุ่มลูกหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (SM) ซึ่งมีหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน และกลุ่มหนี้เสียไม่เกิน 1 ปีด้วย ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 1 ล้านกว่าราย
ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกหนี้กลุ่มนี้ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ ดังนั้นแนวทางเบื้องต้น จะเสนอให้พักดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี และจะให้ผ่อนเฉพาะเงินต้น โดยให้จ่ายเพียงครึ่งเดียว รวมถึงจะมีการขยายเวลาการผ่อนชำระให้นานขึ้น ซึ่งมองว่าถ้าข้อสรุปออกมาได้ตามนี้ น่าจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ลูกหนี้กลุ่มนี้จะต้องเข้าไปอยู่ในเครดิตบูโร ส่วนจะสามารถเข้าถึงสินเชื่อใหม่ได้หรือใหม่นั้น ต้องให้เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินในการพิจารณาว่าจะปล่อยสินเชื่อให้หรือไม่ โดยต้องไปพิจารณาเรื่องความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ และรายละเอียดอื่น ๆ ประกอบ
“ตรงนี้ ยังเป็นเพียงข้อหารือในเบื้องต้น ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย แต่ว่ามันยังไม่จบ โดยยืนยันว่าภาครัฐ และสถาบันการเงินมีโซลูชั่นที่จะดำเนินการแล้ว ซึ่งแนวทางที่คุยกัน คือ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ที่เหลือก็จะผ่อนเงินต้น และให้ผ่อนแค่ครึ่งเดียว ขยายเวลาผ่อนให้ยาวขึ้น ดังนั้น แปลว่านอกจากจะไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแล้ว ยังจ่ายเงินต้นแค่ครึ่งเดียว และยังไปลดเงินต้นด้วย ถ้าข้อสรุปสุดท้ายออกมาเป็นอย่างนี้ก็จะดี ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกิน 1 ปีนั้น อาจจะต้องเอาไว้ก่อน เพราะมองแล้วว่า คงจะแก้ไขให้สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ยากกว่า” นายพิชัย กล่าว
นอกจากนี้ จะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะสามารถผ่อนปรนเกณฑ์มาตรการ LTV ในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อยากให้ ธปท. ไปพิจารณา โดยจะต้องเร่งสรุปรายละเอียดทั้งหมดโดยเร็วที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 พ.ย. 67)
Tags: กระทรวงการคลัง, ดอกเบี้ย, พิชัย ชุณหวชิร, ลูกหนี้, สมาคมธนาคารไทย, หนี้ครัวเรือน