กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยผลการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนกันยายน 2567 มีจำนวน 7,867 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 เพิ่มขึ้น 760 ราย (10.69%) และทุนจดทะเบียน 22,048.51 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2566 ลดลง 2,122.13 ล้านบาท (8.78%) ปัจจัยสนับสนุนมาจากภาคการท่องเที่ยวที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 25% ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจประเทศ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 620 ราย ทุน 1,349.33 ล้านบาท
2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 531 ราย ทุน 3,465.99 ล้านบาท
3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 374 ราย ทุนจดทะเบียน 716.75 ล้านบาท
สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วง 3 ไตรมาสแรกมี 3 ธุรกิจที่น่าจับตามอง เพราะมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ได้แก่
1) ธุรกิจการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง (ยกเว้นทางออนไลน์) ที่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 41 เท่า เนื่องจาก กสทช.ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงดำเนินการขอรับใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงภายในวันที่ 31 ธ.ค.67 เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตดังกล่าว
2) ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ตู้หยอดเหรียญล้างรถ ตู้หยอดเหรียญคีบตุ๊กตาและจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และตู้บริการถ่ายภาพโฟโต้บูธ จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 3.60 เท่า
3) ธุรกิจปลูกข้าวจ้าว จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 2.56 เท่า เนื่องจากกรมการข้าวสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรจัดตั้งเป็นนิติบุคคล เพื่อเข้าร่วมโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดการณ์จดทะเบียนในไตรมาสสุดท้ายของปีจะมีปัจจัยกระตุ้นจากการลงทุนภาครัฐ เช่น โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปีงบประมาณ 68 เริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 67 ที่จะทยอยเริ่มโครงการ และช่วงปลายปีเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวระหว่างเดือน พ.ย.67-เม.ย.68 จะเป็นปัจจัยกระตุ้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง
รวมทั้งนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ประกาศออกมาในช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เช่น การผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้ การส่งเสริมและป้องการผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย การกระตุ้นเศรษฐกิจผลักดันการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับภาคเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสสุดท้ายมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000-23,000 ราย และคาดว่าตลอดปี 67 จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ประมาณ 90,000-98,000 ราย
ส่วนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือน ก.ย.67 มีจำนวน 2,254 ราย เพิ่มขึ้น 215 ราย หรือ 10.54% จากเดือน ก.ย.66 และทุนจดทะเบียนเลิก 16,611.91 ล้านบาท ลดลง 618.06 ล้านบาท หรือ 3.59% จากเดือน ก.ย.66
โดยประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 246 ราย ทุน 414.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.91%
2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 97 ราย ทุน 2,350.40 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 4.31%
3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 74 ราย ทุน 179.71 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.28%
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 67 (ม.ค.-ก.ย.) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 636 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท จ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 2,505 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ญี่ปุ่น 157 ราย (25%) ลงทุน 74,091 ล้านบาท 2) สิงคโปร์ 96 ราย (15%) ลงทุน 12,222 ล้านบาท 3) จีน 89 ราย (14%) ลงทุน 11,981 ล้านบาท 4) สหรัฐอเมริกา 86 ราย (13%) ลงทุน 4,147 ล้านบาท และ 5) ฮ่องกง 46 ราย (7%) ลงทุน 14,116 ล้านบาท
ขณะที่มีการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติในช่วง 9 เดือนแรกของปี 67 จำนวน 207 ราย หรือ คิดเป็น 33% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้ เพิ่มขึ้นจำนวน 108 ราย หรือ 109% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการลงทุน 39,830 ล้านบาท หรือ 30% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้น 23,690 ล้านบาท หรือ 147% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ต.ค. 67)
Tags: กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ธุรกิจ, อรมน ทรัพย์ทวีธรรม