องุ่นเหลือทิ้งในญี่ปุ่นนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์-น้ำส้มสายชูเพื่อลดขยะอาหาร

องุ่นที่ขายไม่ได้และวัตถุดิบเหลือจากการผลิตไวน์ถูกนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์และผลิตผลิตภัณฑ์อาหารในพื้นที่ตอนกลางของญี่ปุ่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในความพยายามลดขยะอาหาร

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การนำองุ่นและกากไวน์จากจังหวัดยามานาชิมาใช้ซ้ำเป็นประโยชน์ต่อฟาร์มต่าง ๆ ที่ประสบปัญหาค่าอาหารสัตว์ที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และยังช่วยให้ผู้ปลูกองุ่นสามารถลดต้นทุนในการกำจัดผลผลิตเสียได้อีกด้วย

ฟาร์มโคบายาชิ (Kobayashi Cattle Farm) ในเมืองไคจำหน่ายเนื้อวัวโคชูไวน์ ซึ่งเป็นเนื้อวัวที่ได้จากการเลี้ยงวัวด้วยกากองุ่นผสมกัน อีกทั้งฟาร์มยังนำมูลวัวมาทำเป็นปุ๋ยหมักสำหรับฟาร์มองุ่นอีกด้วย โดยทางฟาร์มพบว่าการเลี้ยงวัวด้วยกากองุ่นซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและโพลีฟีนอลทำให้เนื้อนุ่มขึ้นและมีกลิ่นคาวน้อยลง วิธีนี้ช่วยให้ฟาร์มประหยัดค่าอาหารได้ประมาณ 5 ล้านเยน (33,000 ดอลลาร์) ต่อปี

ฮิเดกิ โคบายาชิ ประธานฟาร์ม วัย 47 ปี กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผู้คนตระหนักถึงความพยายามของเราในการทำฟาร์มแบบยั่งยืน”

นอกจากนี้ อาซายะ ฟู้ดส์ (Asaya Foods) บริษัทอีกแห่งที่ผลิตน้ำส้มสายชูจากองุ่นที่ขายไม่ออก เช่น องุ่นที่แตกหรือมีสีไม่สวย เนื่องจากองุ่นเหล่านี้มักถูกทิ้งหรือฝัง

บริษัทอาซายะ ฟู้ดส์ เริ่มผลิตน้ำส้มสายชูหมักไวน์ในปี 2502 เพื่อแก้ปัญหาขยะอาหาร โดยเริ่มจำหน่ายให้กับโรงแรมและร้านอาหารต่าง ๆ ก่อนได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคทั่วไปในราวปี 2563 โดยเมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าบริษัทจะปรับราคาผลิตภัณฑ์ขึ้นประมาณ 7% เนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ยอดขายก็ยังคงแข็งแกร่ง

ฮิโรโกะ ซูกิยามะ ประธานบริษัทอาซายะ ฟู้ดส์ วัย 63 ปี กล่าวว่า “ในที่สุด ผลิตภัณฑ์ของเราก็มาถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว หลังจากวางจำหน่ายมาเป็นเวลากว่า 65 ปี เราหวังว่าผู้คนจำนวนมากจะลองใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 67)

Tags: ,