นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ได้เข้าร่วมการประชุมเต็มคณะของผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Plenary Session) เมื่อวันที่ 25 ต.ค.67 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา รวมทั้งได้รับฟังถ้อยแถลงของนาย Ajay Banga ประธานธนาคารโลก และนาง Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และ นาย Ahmed Munawar รมว.คลังมัลดีฟส์ ประธานการประชุม เกี่ยวกับแนวนโยบายสนับสนุนประเทศสมาชิกของทั้ง 2 องค์กร ในการดำเนินการช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาในประเทศกำลังพัฒนา
นาง Kristalina Georgieva กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการอัตราเงินเฟ้อของโลกว่าจะปรับลดลงจาก 5.7% ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 มาเป็น 5.3% ในไตรมาส 4 ของปี 2567 และคาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเป็น 3.5% ในไตรมาส 4 ของปี 2568 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทาย เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ระดับหนี้สาธารณะที่สูง และภาระทางการคลังที่มีรายจ่ายเพิ่มขึ้นในอนาคต จากใช้จ่ายเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยกรรมการจัดการ IMF ได้เสนอแนวนโยบายเพื่อรับมือกับความท้าทาย ดังนี้ (1) การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง หรือการดำเนินงานโดยลดรายจ่ายภาครัฐและปรับเพิ่มภาษี(2) การลงทุนเพื่อการเติบโต โดยเน้นการปฏิรูปที่จำเป็นในด้านทักษะ เทคโนโลยี และความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (3) การเสริมสร้างความร่วมมือในระดับพหุภาคี
ขณะที่นาย Ajay Banga ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า ธนาคารโลกกำลังดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างของธนาคารโลกให้เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาที่สามารถตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้เร็วขึ้น ผ่านกระบวนการที่เรียบง่ายขึ้น เพื่อให้สร้างผลลัพธ์ได้มากขึ้น ซึ่งธนาคารโลกได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) เช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย เป็นต้น เพื่อทำให้การดำเนินการโครงการเพื่อการพัฒนาในประเทศสมาชิกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด
นอกจากนี้ ยังได้เรียกร้องให้ประเทศพัฒนาแล้ว รายได้สูง ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินเพิ่มทุนให้แก่สมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ (International Development Association: IDA) ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ IDA ต่อไป เนื่องจากความต้องการทางการเงินเพื่อการพัฒนาของประเทศรายได้น้อยยังมีอยู่มาก รวมทั้งเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก ประสานงานและดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านอาหาร โดยการเพิ่มการผลิตทั่วโลก และช่วยเหลือประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร
อนึ่ง นายเผ่าภูมิ ได้หารือทวิภาคีกับนาย Wempi Saputra กรรมการบริหารกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของธนาคารโลกถึงความพร้อมของประเทศไทย สำหรับการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปี 2569 และรับฟังรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการเพื่อการพัฒนาของธนาคารโลก ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้หารือถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และธนาคารโลก รวมถึงประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค และสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ต.ค. 67)
Tags: IMF, ธนาคารโลก, พรชัย ฐีระเวช, เผ่าภูมิ โรจนสกุล, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจไทย