นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส. นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีบมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ผู้บริหารทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ จะขึ้นราคาค่าผ่านทางทั้งที่ทำผิดสัญญา ว่า DMT จะขึ้นราคาค่าผ่านทางขาเข้า จากอนุสรณ์สถานถึงแยกดินแดง ราคารวม 115 บาท และขาเข้าจะเก็บรวดเดียว ไม่ว่าจะลงใกล้หรือไกล โดยรถยนต์ 4 ล้อ จะเก็บ 115 บาท จนถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2567 นี้ และจะเริ่มเก็บราคาค่าผ่านทางใหม่ต่อเที่ยวต่อคันอีก 15 บาท ในรถยนต์ 4 ล้อเล็ก โดยเพิ่มเป็น 130 บาท ตั้งแต่จากด่านอนุสรณ์สถานถึงแยกดินแดง โดยอ้างจากข้อตกลงแก้ไขสัญญาเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550 ซึ่งได้รับการแก้ไขสัญญาจากมติ ครม. สองสมัย คือ 1. สมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ 2. มติ ครม. สมัย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
“ซึ่งมีข้อความแก้ไขสัญญาข้อที่ 6. ว่า รัฐยินยอมตามคำฟ้องอนุญาโตตุลาการ และการเจรจาของบริษัท ทางด่วน ดอนเมืองโทลล์เวลย์ และผู้ร่วมถือหุ้นส่วน (บริษัทร่วมทุนวอเตอร์บราวน์) จากประเทศเยอรมนี โดยรัฐยินยอมรับเงื่อนไขที่บริษัทฯ อ้างการขาดทุนของผู้รับสัมปทานตามละเอียดภาคผนวก ข. ให้ขึ้นราคาจาก 30 บาท 2550 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2572 สิ้นสุดสัญญา เป็นราคาถึง 145 บาทได้ โดยให้ขึ้นได้ทุกๆ 5 ปี โดยไม่ต้องขออนุมัติจากกรมทางหลวงหรือรัฐบาลใดๆ ตามข้อตกลงข้อ 6. ให้ต่อสัญญาใหม่เพิ่มอีก 27 ปีด้วย และในข้อวรรคท้ายของข้อตกลง ข้อ 6. หากมีคดีข้อพิพาทซึ่งผู้รับสัมปทานได้ยื่นฟ้องต่อศาล หรือ ได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ไว้แล้ว ก่อนการทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ผู้รับสัมปทานจะต้องถอนฟ้อง หรือ ถอนข้อพิพาทที่เสนอต่ออนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้หมดสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทำบันทึกข้อตกลงนี้ มิฉะนั้น กรมทางหลวงมีสิทธิ์ยกเลิกข้อตกลงฉบับนี้” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า ต่อมาวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 ศาลเยอรมันได้อายัดเครื่องบินพระที่นั่งโบอิ้ง 737 ที่ท่าอากาศยานมิวนิค ประเทศเยอรมันนี จากเหตุที่รัฐบาลไทยกับบริษัทวอเตอร์บราวน์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ใน บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง โดยมีนายสมบัติ พาณิชชีวะ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ และมีการฟ้องร้องต่ออนุญาโตฯ ก่อนมีการแก้ไขสัญญาต่อสัญญา โดยจะขยายต่อสัญญาเพิ่มอีก 27 ปี และให้ขึ้นราคาค่าผ่านทางได้ทุกๆ 5 ปี ข้อพิพาทร้องต่ออนุญาโตฯ นั้น เป็นข้อพิพาทที่ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสัมปทานในการก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ปี 2548 และเหตุแห่งการขาดทุนของบริษัทฯ จนได้รับการต่อสัญญาอีก 27 ปี โดยมีข้อตกลงเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 ในข้อ 6. ต้องถอนฟ้องคดีต่อศาล หรือคำร้องต่ออนุญาโตฯ ทุกคดีภายใน 30 วัน เมื่อเหตุเครื่องบินพระที่นั่ง ถูกอายัด จนต้องนำเงินไปวางค้ำประกันเพื่อไถ่เครื่องบินพระที่นั่งกลับคืน มาจากเหตุคำร้องของอนุญาโตฯ ในคดีสัญาสัมปทานทางยกระดับนี้ ถือว่าหลักเป็นหลักฐานชัดเจนว่า บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ผิดสัญญา ไม่ได้ทำตามข้อตกลง ข้อ 6. วรรคท้าย กรมทางหลวงต้องยกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวได้ทันที และให้ดำเนินคดี กับบริษัทผู้รับสัมปทานด้วย
จึงขอถามนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ย่อมทราบอยู่แล้วว่าเรื่องนี้ มีความผิดต่อสัญญา แต่ยังจะต่อขยายสัญญาให้อีกโดยอ้างว่า เพื่อจะลดราคาค่าผ่านทางลง ทั้งที่ตัวเองเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตั้งแต่ปี 2549 ตามมติ ครม. วันที่ 11 เมษายน 2549 หนังสือด่วนที่ นร.0504 / 4992 ลงวันที่ 20 เมษายน 2549 พฤติกรรมและการกระทำดังกล่าวของนายสุริยะ สมัยเป็น รมว.คมนาคมได้สร้างปัญหาแก่ประชาชนนับแสน นับล้าน คน จนทุกวันนี้ที่ต้องสัญจรใช้ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์
“อีกทั้งเรื่องดังกล่าวมีการวางแผนทุจริตกันหลายขั้นตอน โดยเฉพาะผู้บริหารและผู้มีอำนาจของบริษัทผู้รับสัมปทานกับบริษัทวอเตอร์บราวน์ ผู้ร้องขออนุญาตยึดเครื่องบินพระที่นั่ง อีกทั้งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงยังละเว้นปฎิบัติหน้าที่ ทั้งที่บริษัทผู้รับสัมปทาน ได้ทำผิดสัญญา โดยยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาดังกล่าว ให้ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ตกเป็นสมบัติของแผ่นดินทันที และให้ประชาชนใช้ฟรีได้เลย จึงขอเรียกร้องให้นายสุริยะ รมว.คมนาคม เร่งดำเนินการตามกฎหมายและกรมทางหลวงในฐานะคู่สัญญาตามสัญญากับบริษัทเอกชนต้องบอกเลิกสัญญานี้ตามข้อตกลงข้อที่ 6. ความผิดของพวกท่าน เป็นความผิดทั้งคดีอาญา ผิดทั้งกฎหมายการฟอกเงิน และคดีแพ่งฐานหลอกลวงพี่น้องประชาชนให้เข้าใจผิดว่า สัญญาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายทั้งนี้ บริษัทเอกชนรายนี้ ได้ทำผิดสัญญาชัดเจนมาเป็นเวลานานแล้ว” นายชาญชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 67)
Tags: ชาญชัย อิสระเสนารักษ์, ดอนเมืองโทลล์เวย์, ทางด่วน