นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 26 – 29 ต.ค 67 คาดการณ์พายุโซนร้อนกำลังแรง “จ่ามี” เคลื่อนตัวใกล้เข้าชายฝั่งเวียดนามมากขึ้น แต่ยังไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีเมฆเพิ่มขึ้น ฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน (จ.สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ) ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้นในวันที่ 27 ต.ค.67 ในส่วนของภาคใต้ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักโดยเฉพาะด้านฝั่งอันดามัน
นายจิรายุ กล่าวต่อว่า หลังจากเกิดสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ จ.ภูเก็ต สทนช.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสำรวจพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณเทศบาล ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนบางวาด อ.กะทู้ และในวันนี้จะมีการประชุมหารือแนวทางบริหารจัดการน้ำร่วมกันเพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รับมือในจุดเสี่ยงต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงฤดูฝนของภาคใต้ให้ได้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี หลังจากที่มีปริมาณน้ำสะสมจากฝนที่ตกในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อบริหารจัดการน้ำสอดให้คล้องกับสถานการณ์ และควบคุมระดับน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะทยอยปรับการระบายน้ำเพิ่มขึ้นตามลำดับ ดังนี้ วันที่ 27 ตุลาคม 2567 จะเพิ่มการระบายจากอัตรา 70 ลบ.ม./วินาที เป็น 100 ลบ.ม/วินาที และวันที่ 28 ตุลาคม 2567 จะเพิ่มการระบายจากอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที เป็น 120 ลบ.ม/วินาที ซึ่งการระบายน้ำดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 50-60 เซนติเมตร โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจะยังอยู่ในลำน้ำและไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน และหากมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จะรีบแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบเป็นระยะต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุม ศปช. รับทราบรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ถึงข้อสั่งการของกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำ 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงจ.เพชรบุรี และจ.ประจวบคีรีขันธ์ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยและคลื่นลมแรง 7 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1. การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ 2. การสร้างการรับรู้แก่ประชาชน 3. การดูแลสถานที่ท่องเที่ยว 4. กรณีมีแนวโน้มเกิดขึ้นลมแรงขึ้นซัดชายฝั่ง 5. การเผชิญเหตุ กรณีฝนตกหนัก ฝนตกสะสม รวมถึงคลื่นซัดชายฝั่ง 6. กรณีสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงในพื้นที่ และ 7. เมื่อสถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายแล้ว
ส่วนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยใน จ.เชียงใหม่ นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่และกำลังพลที่เดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ได้ลงพื้นที่ดำเนินการการฟื้นฟู ทำความสะอาด และเก็บถุงกระสอบทรายออกจากถนน ทางเท้า และบ้านเรือนประชาชน ที่ยังคงตกค้าง หลังจากสถานการณ์น้ำลดลง ปัจจุบันยังนำออกจากพื้นที่ไม่หมด จึงได้มีการระดมเจ้าหน้าที่ ช่วยขนย้ายออกจากถนน ทางเท้า และหน้าบ้านเรือนประชาชน เพื่อทำความสะอาดและไม่กีดขวางทางสัญจร ถุงกระสอบทราย จะถูกขนย้ายไปไว้ตามที่ดินของหน่วยงานรัฐในบริเวณที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ และประชาชนที่มีความต้องการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ต่อไป เช่น การซ่อมแซมและการก่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ ใช้ในภาคการเกษตร หรือนำไปใช้ทำเป็นฝายกั้นน้ำเตรียมพร้อมสำหรับช่วงหน้าแล้ง เป็นต้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ต.ค. 67)
Tags: จิรายุ ห่วงทรัพย์, ฝนตก, พยากรณ์อากาศ, พายุจ่ามี, ศปช., เวียดนาม