มองมุมต่าง: โบรกฯออก DW 6 ปี ฟาดกำไร 2.36 หมื่นล้านบาท

DW อ้างอิงหุ้นรายตัว ความเสี่ยงที่ “รายย่อย” ต้องรู้ว่า “ผู้ออก” ได้ประโยชน์สูงสุดโชว์กำไร 6 ปี ฟาดไปเนื้อๆ 2.36 หมื่นล้านบาท

Derivatives Warrants หรือ DW เป็นเครื่องมือการเก็งกำไรที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในหมู่นักลงทุนรายย่อยในไทย ที่ผ่านมาสัดส่วนของ DW เคยขึ้นไปสูงถึง 10% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดของตลาด แต่ปัจจุบันลดลงมาเหลืออยู่เพียง 3-4 % จากทิศทางตลาดที่ไม่ค่อยเอื้อต่อนักเก็งกำไรนัก

เหตุผลที่ DW ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะในช่วงภาวะตลาดขาขึ้น ก็ด้วย gearing หรืออัตราทดสูงนั่นเอง ทำให้นักลงทุนสามารถทำกำไรได้สูงจากราคาหุ้นแม่ที่ขยับเพียงไม่กี่ช่อง แต่ด้วยอัตราทดที่สูง หากเลือกผิดทาง ก็สามารถสร้างความเสียหายได้สูงด้วยเช่นกัน

ใครเป็นคนออก DW เหล่านี้?

ผู้ออก DW ก็คือโบรกเกอร์ ตอนนี้ที่เหลือก็มีอยู่ 8 ราย จากเดิมเคยมีสูงถึง 16 ราย

ผู้ออกเหล่านี้ได้กำไรจากการออก DW หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นจากการกิน spread ของ DW โดยตรง ช่องทางการทำกำไรของผู้ออก DW คือ ส่วนต่างราคาซื้อและขาย หรือ bid/ask spread เนื่องจาก DW ส่วนมากซื้อขายกันที่ราคาต่ำกว่า 1 บาท และมีช่วงราคาขั้นต่ำที่ 0.01 บาท จึงคิดเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับราคา DW

ยกตัวอย่าง DW เทรดที่ราคา 0.50/0.51 บาท ทุกครั้งที่มีการเคาะซื้อ/เคาะขาย นักลงทุนจะเสีย spread ที่ 0.01 บาท อาจจะดูไม่เยอะ แต่เมื่อเทียบกับราคา DW แล้ว 0.01 บาทนี้ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 2%

หากมีการซื้อขายไปกลับที่ bid/offer ทั้งวัน ผู้ออก หรือ ผู้ที่เป็น Market Maker ก็สามารถได้ประโยชน์จากการหากำไรจากส่วนต่างราคานี้ได้ไม่ยาก

ประกอบกับ ส่วนใหญ่ผู้ออก DW มักจะเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องหรือ Market Maker เองไปในตัวด้วย

นอกจากนี้ ผู้ออก DW ยังได้ประโยชน์จากเงื่อนไขการมี Time Decay ถ้ามีการถือข้ามวัน

Time decay หรือค่าเสื่อมทางเวลา เป็นค่าที่บอกว่า เมื่อเวลาผ่านไป 1 วัน ราคา DW จะลดลงไปเท่าไหร่ ถึงแม้ราคาหุ้นแม่ไม่ขยับไปไหน หากนักลงทุนถือ DW ยาวข้ามหลายๆวัน ราคาของ DW ก็จะลดลงจากค่าเสื่อมทางเวลา

ตรงนี้เองที่เป็นช่องในการทำกำไรของผู้ออก DW ยิ่งมีนักลงทุนถือ DW ข้ามวันมากเท่าไหร่ ผู้ออกก็ได้กำไรจาก Time Decay มากเท่านั้น

ถ้าดูตัวเลขประมาณการผลกำไร (ขาดทุน) สุทธิของการทำหน้าที่ DW Market Maker จากฝ่ายวิจัยของสำนักงาน ก.ล.ต. จะเห็นว่า Market Maker มีกำไรสุทธิปีละ 2.6-5.1 พันล้านบาท ระหว่างช่วงปี 2017-2022

สรุปรวมระยะเวลา 6 ปี MM ได้กำไรจากนักลงทุนไปรวม 2.36 หมื่นล้านบาท จะเห็นได้ว่าธุรกิจนี้สามารถสร้างกำไรต่อปีได้ไม่น้อยเลย

สำหรับผู้ออก DW เหล่านี้มีใครบ้าง ในช่วงปี 2017-2022 ถ้าดูจากจำนวน DW ในตลาดตอนนั้น จะมียอดการออก DW จำนวน 22,939 ตัว จะเห็นว่าผู้เล่นคนสำคัญๆ จะมีอยู่ 5 รายที่มีการออก DW มากกว่า 2,000 ตัวต่อเนื่องในช่วง 6 ปี ส่วนที่เหลือจำนวน DW อาจจะไม่มากเท่า 5 รายหลัก

– KGI ออก DW มาแล้ว จำนวน 3,917 ตัว

– BLS ออก DW มาแล้ว จำนวน 3,827 ตัว

– YUANTA ออก DW มาแล้ว จำนวน 3,260 ตัว

– MACQ ออก DW มาแล้ว จำนวน 2,757 ตัว

– JPM ออก DW มาแล้ว จำนวน 2,032 ตัว

ฯลฯ

สำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่วไป DW เหมาะเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับเก็งกำไรระยะสั้นเท่านั้น ไม่เหมาะสำหรับการถือยาว เพราะมูลค่าจะลดลงทุกวันจาก Time Decay ที่ผู้ออก DW จะได้ประโยชน์ และด้วย gearing ที่สูง นักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังในการซื้อขาย เพราะราคาอาจจะขึ้นลงหลายสิบเปอร์เซ็นต์ได้ในช่วงเวลาระยะสั้น

และพาลอาจจะได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีจากการลงทุนไปด้วย โดยคิดว่า DW ที่มาจากการอ้างอิงหุ้นแม่ที่มีพื้นฐานดี , อยู่ในกลุ่ม SET 50 จะทำให้ไม่เสียหาย หรือขาดทุน เหมือนดั่งถือหุ้นแม่ คงจะเป็นการคิดผิดอย่างเห็นได้ชัด และมีโอกาสหมดตัว หากไม่ศึกษาข้อมูลก่อนการลงให้ละเอียดถี่ถ้วนว่า DW เป็นเพียง “ตราสารอนุพันธ์” ที่ใช้แค่อ้างอิงเท่านั้น และไม่ใช่ “หุ้น” ของบริษัทที่มีกิจการเติบโตอย่างที่เห็นทุกวันนี้

ธิติ ภัทรยลรดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,