นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า สภาพอากาศในระยะนี้ยังมีความแปรปรวน โดยกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่าพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มมีอากาศเย็นเตรียมประกาศเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนภาคใต้และภาคกลางยังเฝ้าระวังฝนตกหนักบางแห่ง พร้อมคาดการณ์พายุโซนร้อน “จ่ามี” เปลี่ยนทิศทางเคลื่อนตัวไปหมู่เกาะฟิลิปปินส์ แต่หางของพายุยังมีโอกาสขึ้นชายฝั่งประเทศเวียดนามในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ อาจส่งผลให้มีฝนและลมแรงในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มุกดาหาร และยโสธร ทั้งนี้ทิศทางของพายุเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนภาคใต้มีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักหลังมีปริมาณฝนมากกว่า 90 มม.ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 25 ต.ค.นี้ ได้แก่ จ.สตูล อ.เมืองสตูล, จ.ชุมพร อ.ท่าแซะ, จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์, จ.เพชรบุรี และ จ.ระนอง อ.กระบุรี ซึ่งต้องระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากด้วย โดยเฉพาะที่ จ.ระนอง อ.กระบุรี และ จ.สตูล อ.เมืองสตูล
ขณะที่ภาคเหนือตอนล่างที่ จ.ตาก อ.อุ้มผาง อ.เมืองตาก อ.บ้านตาก, จ.กำแพงเพชร อ.คลองลาน, จ.นครสวรรค์ อ.แม่วงก์ อ.แม่เปิน, จ.อุทัยธานี อ.บ้านไร่ อ.ลานสัก ทางกรมทรัพยากรธรณีได้ประสานอาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนในพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง
นายจิรายุ กล่าวว่า จากฝนตกในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ทำให้ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์แนวโน้มสูงขึ้น บวกกับน้ำในลุ่มน้ำสะแกกรังไหลมารวมหน้าเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเหมาะสมและสอดคล้องกับน้ำทะเลหนุนสูงจนถึงวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) กรมชลประทานต้องทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจากอัตรา 1,498 ลบ.ม./วิ เช้านี้เวลา 09.00 น. เป็นอัตรา 1,550 ลบ.ม./วิ ในเวลา 12.00 น. และคงอัตราดังกล่าวต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) มีระดับน้ำสูงขึ้นจากปัจจุบัน 10-20 เซนติเมตร โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ทำหนังสือแจ้งเตือนหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการริมแม่น้ำและประชาชนใน 10 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด
ส่วนความคืบหน้าการซ่อมแซมถนนสายทางที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ดินสไลด์นั้น ล่าสุดโครงข่ายคมนาคมขนส่งคลี่คลายไปมาก กลับสู่สภาพปกติเกือบทั้งหมดแล้ว และพร้อมอำนวยความสะดวกให้ประชาชน แต่ยังมีบางพื้นที่ ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้กลับมาสัญจรได้อย่างปลอดภัย โดยถนนสาย ทล.1195 ตอนเตว็ดใน-วังไม้ขอน อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย กรมทางหลวงได้บูรณะฟื้นคืนสภาพให้รถจักรยานยนต์สัญจรได้ อยู่ระหว่างเสริมความแข็งแรงด้านข้างป้องกันน้ำจากแม่น้ำปิงเอ่อล้น ส่วนถนนสาย ทล.4244 กม. ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา ได้ติดตั้งสะพานเหล็กชั่วคราว (แบลี่ย์) คาดว่าจะเปิดให้สัญจรพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) สำหรับการแก้ไขปัญหาคอสะพานพ่อขุนเม็งรายมหาราช อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย สัญจรได้ปกติวันนี้ และอยู่ระหว่างติดตั้งสะพานแบลี่ย์ ถนนสาย ชร.016 อ.เมืองเชียงราย (สะพานข้ามแม่น้ำกก) คาดแล้วเสร็จวันที่ 28 ต.ค.นี้ ขณะที่ถนนสาย ทล.1322 ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กรมทางหลวง จะหารือผู้นำชุมชนในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค.) เพื่อขอใช้พื้นที่ของประชาชนในการทำทางเบี่ยงขึ้นที่สูงให้สามารถสัญจรได้ เพราะเป็นพื้นที่ตาน้ำ ทำให้น้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับความคืบหน้าการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำท่วมที่ อ.แม่สาย และ อ.เมืองเชียงราย ระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะที่ปรึกษาฯ และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธาน ศปช.ส่วนหน้า จ.เชียงราย ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟู พร้อมมอบสิ่งของและให้กำลังใจผู้ประสบภัย พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องเงินเยียวยาต้องได้รับอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ที่ประชุมได้หารือเรื่องรูปแบบ สถานที่ การมอบหมายหน้าที่และการเตรียมการด้านต่าง ๆ เพื่อส่งมอบพื้นที่ที่ได้ฟื้นฟูในระยะที่ 1 เสร็จเรียบร้อยแล้วให้แก่หน่วยงานในพื้นที่เพื่อฟื้นฟูในระยะที่ 2 ต่อไป หลังจากภาพรวมการฟื้นฟู อ.แม่สาย ระยะที่ 1 สามารถฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 819 หลังคาเรือน เสร็จครบถ้วน 100 % ก่อนส่งมอบพื้นที่คืนในวันที่ 28 ต.ค.นี้ ส่วนภาพรวม อ.เมืองเชียงราย การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังชุมชนทวีรัตน์ เขตเทศบาลนครเชียงราย หน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชนที่แจ้งความประสงค์ให้ภาครัฐเข้าไปดำเนินการแล้ว 100% ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ต.ค. 67)
Tags: กรมอุตุนิยมวิทยา, จิรายุ ห่วงทรัพย์, ฝนตกหนัก, พายุโซนร้อนจ่ามี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคเหนือ, สำนักนายกรัฐมนตรี