LVMH ยักษ์ใหญ่สินค้าหรูของฝรั่งเศส รายงานยอดขายไตรมาส 3/2567 ร่วงลง 3% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่พ้นวิกฤตโควิด-19 สาเหตุหลักมาจากความต้องการในจีนและญี่ปุ่นที่ซบเซาลง
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. ที่ผ่านมา LVMH ทำรายได้ไป 1.908 หมื่นล้านยูโร (2.08 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) หดตัว 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ (Barclays) เคยคาดการณ์ไว้ว่ายอดขายจะเติบโตแบบออร์แกนิก 2% (ไม่นับรวมปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและการซื้อกิจการ)
ลูกา โซลกา นักวิเคราะห์จากเบิร์นสไตน์ (Bernstein) ชี้ว่า LVMH “พลาดเป้า” อย่างมาก โดย “ต่ำกว่าคาดในทุก ๆ ด้าน”
รายงานยอดขายของ LVMH ซึ่งเป็นรายแรกในบรรดาบริษัทแบรนด์สินค้าหรู มีขึ้นหลังจากหุ้นกลุ่มสินค้าหรูมีความผันผวนอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนจุดประกายความหวังเรื่องการฟื้นตัวได้เพียงชั่วคราว
ฌอง-ฌากส์ กีโอนี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ LVMH กล่าวในการประชุมทางโทรศัพท์กับนักวิเคราะห์ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวจีนตกต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ยุคโควิด-19 แต่เขายังเสริมว่า บริษัทยังคงเชื่อมั่นในอนาคตของตลาดจีน
“LVMH ถือเป็นตัวแทนของภาคธุรกิจนี้ ผลประกอบการครั้งนี้จะส่งผลให้ตลาดในระยะสั้นมีความผันผวนมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ฟลาวิโอ เซเรดา ผู้จัดการร่วมฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนแบรนด์หรูของ GAM ซึ่งเป็นกองทุนที่ถือครองหุ้นในกลุ่มสินค้าหรูหรา กล่าว
แผนกแฟชั่นและเครื่องหนัง ที่มีแบรนด์ดังอย่างหลุยส์ วิตตอง (Louis Vuitton) และดิออร์ (Dior) รายงานยอดขายลดลง 5% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโต 4% และเป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563
“ยอดขายแผนกแฟชันปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มลูกค้าชาวยุโรปและอเมริกัน แต่กลับแย่ลงในกลุ่มลูกค้าชาวจีนและญี่ปุ่น” กีโอนีกล่าว
อนึ่ง แผนกแฟชั่นและเครื่องหนังคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของ LVMH และเกือบ 3 ใน 4 ของกำไรที่เกิดขึ้นประจำ
ในเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ซึ่งตลาดจีนมีส่วนแบ่งที่โดดเด่น ยอดขายลดลงรุนแรงขึ้นเป็น 16% จากที่ลดลง 14% ในไตรมาสก่อนหน้า
ความเฟื่องฟูในการจับจ่ายใช้สอยหลังยุคโควิด-19 เริ่มซาลงตั้งแต่ปีที่แล้ว ประกอบกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนยิ่งทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจที่จะควักกระเป๋า แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังปลุกตลาดสินค้าหรูหราให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นผลสำเร็จ
ส่วนที่ญี่ปุ่น LVMH ระบุว่ายอดขายเติบโตชะลอตัวลงอย่างหนัก จาก 57% ในไตรมาสก่อนหน้า เหลือเพียง 20% ในไตรมาสที่ 3/67 สาเหตุหลักมาจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น
พิรัล ดาดาเนีย นักวิเคราะห์จาก RBC มองว่า ตลาดน่าจะตอบรับข่าวผลประกอบการนี้ในแง่ลบ เพราะสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวลงรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ต.ค. 67)