นักวิชาการแนะรัฐบาลเดินหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนและจริงจัง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเดินหน้ายุทธศาสตร์การพัฒนายั่งยืนอย่างจริงจังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยิ่ง แนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนปัจจุบันและอนุชนในอนาคตดีขึ้นไปพร้อมกัน ไม่ใช่มุ่งประโยชน์เศรษฐกิจปัจจุบันและผลักภาระทางด้านสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติไปในอนาคต การพัฒนาต้องไม่ลดคุณค่าของความเป็นมนุษย์และไม่ทำลายสภาพแวดล้อมให้เสื่อมโทรมลงจนทำให้มนุษย์อยู่อาศัยได้ยากขึ้นลำบากขึ้น เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคมอย่างมากมาย

งานสำคัญเร่งด่วน คือ จะต้องเอาแนวคิดแบบยั่งยืนและจริยธรรมกลับเข้าอยู่ในกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะให้มากขึ้น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่อาจบรรลุได้ด้วยบทบาทของภาครัฐอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยสังคมและประชาชนต้องช่วยกัน ประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงลำพังก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับโลก การพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตระยะยาวโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่ากำไรระยะสั้นของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมถูกกำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติและการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และรัฐบาลไทยได้รับเป้าหมายนี้มา ฉะนั้นต้องช่วยกันให้บรรลุเป้าหมาย

ความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ รายงาน IPCC Climate ของสหประชาชาติ พบว่า การปล่อยก๊าซยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้อุณหภูมิของโลกตอนนี้ร้อนกว่าช่วงปลายยุค 1800 ถึง 1.1 องศาเซลเซียส ทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2554-2563) เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ หลายคนอาจคิดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหมายถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของผลกระทบต่อเนื่องตามมามากมาย เนื่องจากทุกสรรพสิ่งบนโลกนั้นเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ การเปลี่ยนแปลงในด้านใดด้านหนึ่งจึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ ทั้งหมดด้วย ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เห็นได้ตอนนี้ ได้แก่ ภัยแล้งรุนแรง การขาดแคลนน้ำ ไฟไหม้รุนแรง ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม น้ำแข็งขั้วโลกละลาย วาตภัยขนาดใหญ่ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เกิดความยากจนฉับพลันจากภัยพิบัติ และอื่น ๆ

การเอาจริงเอาจังกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรุนแรงได้ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะป่าต้นน้ำจะช่วยไม่เกิดภาวะดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากรุนแรงได้ระดับหนึ่ง ภาคเศรษฐกิจการผลิตต้องยึดถือการผลิตแบบยั่งยืน มีความรับผิดชอบในการบำบัดมลพิษก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ลงทุนเพื่อกระบวนการการผลิตที่สามารถนำปัจจัยผลิตมาใช้แบบหมุนเวียน ลดการปล่อยของเสีย ลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ภาคการเงินก็ต้องยึดหลักการเงินเพื่อความยั่งยืน สนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมให้มีการออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ESG ส่งเสริมให้มีการลงทุนในหุ้นกลุ่ม ESG นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้กิจการและสถานประกอบการต่าง ๆ เน้นการบริหารองค์กรตามแนวคิดแบบยั่งยืน ESG (Environmental, Social and Governance)

อุทกภัยและภัยพิบัติธรรมชาติซ้ำซากซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำและเกิดความยากจนแบบฉับพลันในไทยเพิ่มขึ้น จากรายงานวิจัยของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program:UNDP) ประเมินว่า ในระดับโลกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อทุกคน แต่ประเทศยากจนและกลุ่มเปราะบางจะเป็นกลุ่มที่เผชิญกับผลกระทบรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ด้วยปัจจัยทางทรัพยากรธรรมชาติ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ด้านความยากจน ในปี 2573 ประชากรมากกว่า 100 ล้านคนอาจเผชิญความยากจนขั้นรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และประชากร 200 ล้านคนอาจพลัดถิ่นจากภัยธรรมชาติ ประสบภาวะยากจนฉับพลันจากสภาพอากาศรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ด้านความมั่นคงทางอาหารโลกสั่นคลอน ประชากรเกือบ 800 ล้านคนเผชิญความหิวโหยอย่างต่อเนื่อง

หากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาจะมีประชากรอีก 189 ล้านคนที่ถูกผลักให้เผชิญความหิวโหยและการพลัดถิ่น ในปี 2565 ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัย 84% ลี้ภัยจากประเทศที่เปราะบางต่อสภาพอากาศ และด้านที่อยู่อาศัย เมืองชายฝั่งจำนวนมากที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนกำลังเผชิญความเสี่ยงเพราะพื้นที่เมืองมากกว่า 90% จะกลายเป็นพื้นที่ชายฝั่ง

สำหรับประเทศไทยนั้น โดยภาพรวมเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 1% ของโลก แต่เป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะถ้าปล่อยให้กรุงเทพฯและปริมณฑลจมทะเลจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ประเทศไทยจะเจอสภาวะอุทกภัยและภัยแล้งรุนแรงถี่ขึ้น เผชิญสภาพอากาศสุดขั้วเพิ่มขึ้นอันเป็นภาวะที่คนจำนวนน้อยไม่อยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจในการรับมือได้ จากการประชุม COP26 ประเทศไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มเป็น 40% ภายในปี 2573 ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนงานระดับชาติในการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกและความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก แต่การลดก๊าซเรือนกระจกและลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมย่อมเกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐต้องสร้างระบบและกลไกส่งเสริมให้มีการลงทุน

เนื่องจากไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำแต่ได้ผลกระทบรุนแรง ไทยจึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการเรียกร้องให้ประชาคมโดยเฉพาะประเทศร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงในการช่วยเหลือต่อไทยอย่างน้อย 3 ด้านตามข้อเสนอในงานวิจัยของ UNDP คือ 1.ทางด้านการลดก๊าซเรือนกระจกในไทยผ่านการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปยังเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 2.ทางด้านการสนับสนุนงบประมาณต่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3.การลงทุนเพื่อยกระดับขีดความสามารถ สร้างศักยภาพให้ภาครัฐและเอกชนมีแผนงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีกลไกทางการเงิน การสร้างแรงจูงใจ และแนวทางดำเนินการในการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนให้หันมาลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม

ธนาคารกลางหลายประเทศทยอยปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องส่งผลดีต่อเม็ดเงินไหลเข้าตลาดการเงินเอเชีย รวมทั้งตลาดหุ้นไทย อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ น่าจะปรับลดลงมาใกล้เคียงเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ระดับ 2% ซึ่งจะทำให้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการอ่อนตัวลงของดอลลาร์และราคาทองคำที่ยังเป็นขาขึ้นต่อไป ขณะเดียวกันตลาดการเงินโลกและนักลงทุนต่างรอดูผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะออกมาอย่างไรในช่วงต้นเดือน พ.ย. ขณะนี้ตลาดการเงินโลกคาดหวังว่า รัฐบาลจีนจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมออกมาอีก จะสร้างความเชื่อมั่นในการดึงประเทศจีนออกจากภาวะเงินฝืดได้หรือไม่ ผลกระทบฟองสบู่แตกของเศรษฐกิจจีนจะสามารถแก้ไขได้อย่างไรและใช้เวลายาวนานแค่ไหนก็เป็นสิ่งที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลกต่อไป

ขณะที่นักลงทุนและประชาชนจะปรับพฤติกรรมทางเศรษฐกิจตามปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มากระทบ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมและนโยบายของรัฐในช่วงปลายปีนี้ ผู้บริโภคก็จะไม่เลือกระดับการบริโภคโดยคำนึงแต่เฉพาะรายได้ในปัจจุบันเท่านั้นดังนั้นเงินแจกกลุ่มเปราะบาง 10,000 บาทจะได้ผลกระตุ้นเศรษฐกิจมากก็ต่อเมื่อกลุ่มเปราะบางมีความมั่นใจต่อรายได้ในอนาคต มั่นใจต่อการประกอบอาชีพ และผลกระทบอุทกภัยเริ่มบรรเทา

การที่ผู้บริโภคจะใช้จ่ายเพิ่มจะอยู่ที่การคาดการณ์รายได้ในอนาคตด้วย เมื่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย.67 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 นับตั้งแต่เดือน มี.ค.67 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนนับตั้งแต่เดือน ส.ค.66 ส่วนดัชนีคาดการณ์รายได้ในอนาคตและโอกาสในการมีงานทำก็ลดต่ำลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 เช่นเดียวกัน ดัชนีทางเศรษฐกิจที่จัดทำและเผยแพร่โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยล้วนบ่งชี้ว่า ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามโครงการแจกเงินหมื่นให้กลุ่มเปราะบางยังไม่แสดงผล แต่คาดว่าอาจจะส่งผลในระยะต่อไป ประกอบกับเมื่อมีการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคกระเตื้องขึ้นได้ในช่วงปลายปีได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ต.ค. 67)

Tags: ,