นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวชี้แจงในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ว่า เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นเรื่องสำคัญมากของทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะเป็นเรื่องของอนาคตของกรุงเทพฯ ว่า กทม. จะมีทิศทางเดินหน้าอย่างไร
นายชัชชาติ กล่าวว่า ขอนำเสนอเรื่องนี้ให้คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อพิจารณาศึกษาในรายละเอียดต่อไป และจะขอรับความเห็นในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ต่อสภากทม. ว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 มีปัญหาภาระการจ่ายค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง ให้กับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงการมอบหมายกรุงเทพธนาคม (KT) ซึ่งยังไม่ผ่านการเห็นชอบจากสภากทม. รวมถึงมีรายได้จากค่าโดยสารไม่เพียงพอ การไม่ชำระค่าจ้างเดินรถอาจส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องคดีอื่นลักษณะเดียวกัน ประกอบกับกทม. มีงบประมาณอย่างจำกัด และจำเป็นต้องใช้ในภารกิจทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และอื่น ๆ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่ 2 จะต้องเสนอต่อสภากทม. เพื่อพิจารณาสนับสนุนรายจ่ายของโครงการในอนาคต จึงขอรับความเห็นในการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 จากสภากทม. เพื่อใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย
สำหรับแนวคิดของฝ่ายบริหาร กทม. คือต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายให้ชัดเจน ว่าการชำระหนี้ตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งขณะนี้กำลังรอคำตอบที่ชัดเจนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานอัยการสูงสุด และเมื่อได้ความชัดเจนแล้ว จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้สภากทม. พิจารณาต่อไป เพราะเป็นอนาคตของกรุงเทพฯ ที่ต้องดำเนินการ
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า เป็นสภา กทม. ได้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ แต่ละท่านล้วนมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และค้นคว้าข้อมูลประกอบการพิจารณาเรื่องนี้นานกว่า 1 ปี จึงเห็นควรให้คณะกรรมการวิสามัญฯ ชุดดังกล่าวพิจารณาในเรื่องนี้ และสภากทม. แห่งนี้ควรช่วยกันเร่งผลักดันในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว เพราะส่งผลกระทบกับดอกเบี้ยรายวันที่กทม. ต้องชำระ
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญฯ ชุดดังกล่าว พบว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้ชี้มูลเข้ามาว่าการทำสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 เป็นการเสนอราคาแบบไม่เป็นธรรม เนื่องจากมีเอกชนเพียงเจ้าเดียวในการเสนอราคา แต่ไม่มีการชี้มูลความผิดในเรื่องการก่อสร้างส่วนต่อขยายที่ 2 แต่ก็เป็นภาระหนี้ของ กทม. ที่ต้องชำระหนี้ โดยต้องเสียดอกเบี้ยวันละ 2.7 ล้านบาท
โดยหากการพิจารณาการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช้า ก็จะยิ่งสร้างความเสียหายในการชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยมากยิ่งขึ้น โดยต้องชำระเป็นรายปี หากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่ต้องชำระตามกฎหมาย ในอนาคตอาจจะมีการจัดตั้งงบประมาณรายปีเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว และหากการพิจารณาการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 สามารถหาข้อสรุปได้รวดเร็ว ก็จะสามารถทำให้กทม. วางแผนด้านงบประมาณการเงินและการชำระหนี้รายปีได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ด้าน นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.เขตพญาไท กล่าวว่า กทม. คือเจ้าของทรัพย์สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายทั้ง 2 ส่วน แต่ผู้ให้บริการเดินรถบนทรัพย์สินของ กทม.กลับได้กำไรจากการเดินรถเพียงฝ่ายเดียว กทม. จึงควรทบทวนในเรื่องของอัตราการเดินรถโดยสารให้สมควร และมีความเป็นธรรมต่อไปในอนาคต และขอให้ฝ่ายบริหาร กทม. ขอรับคำตอบที่ชัดเจนของการชี้มูลความผิดจากคณะกรรมการป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า กทม. ชำระหนี้ตามความผิดของสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นายตกานต์ สุนนทวุฒิ ส.ก.เขตหลักสี่ กล่าวว่า การพิจารณาและญัตติดังกล่าวในวันนี้ เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับงบประมาณของกทม. จึงควรพิจารณาเป็นกรณีไป ขอฝากฝ่ายบริหารของกทม. ได้พิจารณาในแต่ละกรณีให้ถี่ถ้วน อาทิ กทม. ควรชำระหนี้หรือไม่ หากสัญญาการจ้างเดินรถดังกล่าวเป็นโมฆะ การเดินรถจะกลับมาเป็นของกทม. แล้วจะมีการทำสัญญาเดินรถกับบริษัทรายใหม่พร้อมหารายได้ในช่องทางอื่น ๆ กลับมาให้กทม. หรือไม่อย่างไร
โดยนายเมธาวี ธารดำรงค์ ส.ก.เขตปทุมวัน ได้กล่าวสนับสนุนประเด็นดังกล่าว และให้ผู้บริหารกทม. ปรึกษากับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ก่อนดำเนินการทุกโครงการเพื่อประโยชน์ของกทม. ต่อไป
ขณะที่ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี ให้ข้อสังเกตว่า ผู้ว่าฯ กทม. สามารถส่งรายละเอียดต่าง ๆ ให้คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ได้โดยตรง แต่หากต้องการให้สภากทม.พิจารณาเรื่องดังกล่าวร่วมกัน ควรต้องนำเอกสารหลักฐานของเนื้อหาสำนวนมูลความผิดจากป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุดมาให้ละเอียดครบถ้วน เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะมีผลกระทบกับการก่อสร้าง ส่วนต่อขยายที่ 2 หรือไม่ อย่างไร
ด้าน นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา กล่าวว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญมาก เนื่องจากมีผลกระทบกับประชาชน ดังนั้น กทม. จึงต้องสร้างความชัดเจนว่าหากกทม. จ่ายชำระหนี้ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดกว่าหมื่นล้านบาทนั้น การชำระหนี้ก้อนนั้นถูกต้องหรือไม่ และหากศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า กทม. ไม่ต้องชำระหนี้ดังกล่าว กทม. สามารถฟ้องร้องนำเงินที่ชำระหนี้คืนมาจากเอกชนได้หรือไม่ โดยต้องพิจารณาแนวทางการดำเนินการให้ครบทุกด้าน เพื่อให้ประชาชนทราบว่า กทม. พร้อมที่จะชำระหนี้ตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แต่ต้องรอการตรวจสอบในรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป
ส่วน นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน กล่าวว่า การชำระหนี้ตามคำสั่งของศาล ส่วนหนึ่งก็เป็นหน้าตาของกทม. ว่าสามารถปฏิบัติได้ตามที่ศาลตัดสิน และกทม. มีความพร้อมที่จะชำระหนี้ตามที่ศาลตัดสิน เพียงแต่ขณะนี้ขอรอความชัดเจนการชี้มูลความผิดจากป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุดก่อน
โดยนายสมชาย ฝากอีกหนึ่งแนวคิดให้สภากทม. พิจารณาว่า กทม. สามารถนำเงินที่จะชำระหนี้ไปชำระไว้ ก่อนที่สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี ตามมาตรา 331 คือ กรณีเจ้าหนี้บอกปัดไม่ยอมรับชำระหนี้ และกรณีเจ้าหนี้ไม่สามารถจะรับชำระหนี้ได้ เพื่อเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยรายวันในกรณีที่คดียังอยู่ในการพิจารณา ได้หรือไม่
ทั้งนี้ สภากทม. ให้นำเรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ให้คณะกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อพิจารณาศึกษาในรายละเอียด และรอคำตอบที่ชัดเจนจากคณะกรรมการป.ป.ช. และสำนักงานอัยการสูงสุดในการชี้มูลความผิด และเมื่อได้ความชัดเจนแล้วให้นำเรื่องดังกล่าวกลับมาให้สภากทม. พิจารณาต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ต.ค. 67)
Tags: กรุงเทพมหานคร, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ประชุมสภากรุงเทพมหานคร