เงินบาทเปิด 33.23/33 อ่อนค่า หลังตัวเลขจ้างงานสหรัฐดีกว่าคาดหนุนดอลลาร์แข็งค่า

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 33.32/33 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากปิดตลาดเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 33.01 บาท/ดอลลาร์

เงินบาทเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกับสกุลเงินภูมิภาคและตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่า หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (4 ต.ค.) ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับอัตราการว่างงานของสหรัฐที่ปรับตัวลดลง ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯ

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 33.00 – 33.50 บาท/ดอลลาร์ วันนี้รอติดตามตัวเลขเงินเฟ้อจากกระทรวงพาณิชย์ ส่วนในสัปดาห์นี้รอติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ช่วงปลายสัปดาห์ ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย.

*ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 148.71/73 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 146.31 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0974/0976 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.1027 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท. อยู่ที่ระดับ 33.069 บาท/ดอลลาร์
  • รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเสนอปรับกรอบเงินเฟ้อปีหน้าเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดิมอยู่ในกรอบ 1-3% เพิ่มเป็น 1.5-3.5% เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีช่องปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้มากขึ้น แต่มีระยะห่าการบริหารกรอบยังเท่าเดิมที่ 2% โดยเบื้องต้น รมว.คลัง จะนัดหารือถึงกรอบการบริหารเงินเฟ้อปี 68 กับธปท. ช่วงปลายเดือน ต.ค.นี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. และประกาศใช้ในปี 68 ต่อไป
  • “อิ๊งค์” ถก 6 บ.ยักษ์ใหญ่ท่องเที่ยวของโลกกระตุ้นเศรษฐกิจไทย นายกสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยชง ‘คนละครึ่งภาคแรงงาน’ แนะ รบ.ทุ่ม 5 หมื่นล้านแจกเดือนละ 1 พันบาทต่อเนื่อง 3 งวด เชื่อเงินหมุน 2 แสนล้าน ช่วยปั๊ม ศก.
  • ภาคเอกชนหดหู่สิ้นหวัง 5 มาตรการหลัก 63 มาตรการย่อย แก้ปัญหาสินค้าราคาถูกไร้มาตรฐานทะลักเข้าไทยของ 28 หน่วยงานที่ส่อล้ม หลังได้รัฐบาลใหม่มากว่า 1 เดือน แต่ยังไม่ประชุมติดตามความคืบหน้า ขณะที่ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันฯ ยังไม่ได้ตั้ง ปล่อยไทยขาดดุลการค้าจีนต่อเนื่อง
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 254,000 ตำแหน่งในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดไว้ที่ 140,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงเกินคาดสู่ระดับ 4.1% จาก 4.2% ในเดือนส.ค.
  • เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า หลังการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงาน นักลงทุนคาดการณ์ในขณะนี้ว่า ไม่มีโอกาสที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งลดลงจากราว 31% ในช่วงเช้าวันศุกร์ และ 53% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่เฟดมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% และมีโอกาสเพียงเล็กน้อยที่เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลง
  • นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐของแบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) เปิดเผยว่า BofA คาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในการประชุมแต่ละครั้งจนถึงเดือนมี.ค. 2568 และจะปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ในแต่ละไตรมาสจนถึงสิ้นปี 2568
  • ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนส.ค., สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนส.ค., สต็อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA), คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เปิดเผยรายงานการประชุมวันที่ 17-18 ก.ย., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย., ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นเดือนต.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน
  • นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ต.ค. 67)

Tags: , , ,