นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานล่าสุดของสถานการณ์จังหวัดเชียงใหม่แล้ว โดยผู้ว่านายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้รายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าช่วยเหลือประชาชน และสัตว์ที่ประสบภัยน้ำท่วม ในอำเภอแม่แตง โดยจังหวัดได้ส่งนายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่ประสานงาน ร่วมกับ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย บัญชาการเหตุการณ์ตัง้แต่เมื่อคืนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นายชัยณรงค์ นันตาสาย นายอำเภอแม่แตง ได้รายงานสถานการณ์การให้การช่วยเหลือช้างในพื้นที่ว่า สถานการณ์ล่าสุดพบช้างล้ม 2 เชือก ขณะนี้ปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอกำลังเข้าตรวจสอบพบว่าเป็นช้างชื่อ “ฟ้าใส” และ “พลอยทอง”
ขณะที่สถานการณ์น้ำแม่แตง วันนี้ลดลง 1.5 -2 เมตร ไหลลงกลับไปรวมกับลำน้ำแม่แตง ไม่ล้นแนวตลิ่งออกมาแล้ว ซึ่งพบว่าปางช้าง Elephant Nature Park ซึ่งรับการช่วยเหลือขนย้าย 124 เชือก โดยก่อนหน้านี้ มีการทยอยขนช้างขึ้นที่สูงแล้วเกือบทั้งหมด เหลือเพียงช้างป่วยและพิการจำนวน 15 เชือก และช้างดุ 7 เชือก ซึ่งขณะนี้น้ำกลับลงลำน้ำแม่แตงแล้ว ไม่มีช้างที่แช่น้ำ จึงปรับแผนไม่ต้องเคลื่อนย้าย ซึ่งได้จัดเตรียมยา และมีเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ดูแลอย่างใกล้ชิด
โดยในวันเดียวกันนี้ นายอำเภอแม่แตง จะนำฝ่ายปกครอง อาสาเจ้าหน้าที่ และกำลังทหาร เข้าฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมหลายร้อยหลังคาเรือน
นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ศปช.และส่วนหน้า เร่งอำนวยการเข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และแก้ไขปัญหาสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายจิรายุ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศปช. รายงานว่าในช่วง 1-7 วันข้างหน้านี้ มีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิม 2,000 ลบ.ม./วินาที โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นวันละ 50-100 ลบ.ม./วินาที ทำให้ความสูงของน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีระดับเพิ่มขึ้นครั้งละ 10 – 15 เซนติเมตร โดยสูงสุดไม่เกิน 70 เซนติเมตร ส่งผลกระทบกับประชาชนริ่มฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง ท่าจีน ป่าสัก สะแกกรัง เจ้าพระยา จำนวน 11 จังหวัด
“ขอแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี ปทุมธานี นนทบุรี อุทัยธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ โดยการระบายน้ำมีผลกระทบ ดังนี้ ผลกระทบแรก จะมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีน ผลกระทบที่สอง เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก สะแกกรัง เจ้าพระยา มีระดับสูงขึ้นแต่ไม่ล้นตลิ่ง จะทำให้ผู้ประกอบการในทางน้ำ การเดินเรือ การเลี้ยงปลาในกระชัง ผู้ที่อาศัยบริเวณนอกคันกั้นน้ำ ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำดังกล่าว ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด” นายจิรายุกล่าว
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่เมื่อคืนที่ผ่านมา (4 ต.ค.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต (ปภ.) ได้ร่วมทำงานกับศูนย์บัญชาเหตุการณ์จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่รอยต่อจังหวัดลำพูน ได้ปฏิบัติงานใน 2 ส่วน ดังนี้
1.ชุดปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (อพยพประชาชน การอำนวยความสะดวกในการสัญจร รวมถึงการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของดำรงชีพ) ปฏิบัติงานเมื่อคืนในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอแม่แตง ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) พร้อมรถยกสูง เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์
2.ชุดปฏิบัติการสูบน้ำท่วมขัง/สูบระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ และรอยต่อจังหวัดลำพูน ทีม ปภ. ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำท่วมขังสมรรถนะสูง ศักยภาพสูบน้ำได้ 50,000 ลิตร/นาที ไว้ที่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ สำหรับเร่งระบายมวลน้ำก้อนเดิมออก เพื่อให้พื้นที่ปลายน้ำสามารถรองรับมวลน้ำใหม่ได้ และสามารถระบายน้ำออกแม่น้ำกวง และแม่น้ำปิงได้
- เชียงราย เร่งฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วม
สำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ จ.เชียงราย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช. มอบหมายให้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะผู้อำนวยการ ศปช.ส่วนหน้า จ.เชียงราย และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ที่ปรึกษาฯ ร่วมกันนำหน่วยทหารลงพื้นที่ฟื้นฟู โดยจุดที่ทำนบรั่วตามแนวแม่น้ำ ทหารช่างได้นำบิ๊กแบ็คอุดเสริมแนวรั่วต่าง ๆ มีการผลัดเวรทำงานตลอด 24 ชม.
“สถานการณ์ที่แม่สายไม่น่าเป็นห่วง ควบคุมได้ ถึงแม้จะมีจุดรั่วเพิ่มเติมเป็นระยะ ๆ อยู่บ้างก็ไม่เป็นปัญหา และระดับน้ำคงที่ และเริ่มลดลงเป็นลำดับ ส่วนเมื่อคืนที่ผ่านมา แม้จะมีฝนตกในพื้นที่แม่สาย แต่ไม่มีผลกระทบเรื่องโคลน ภาพรวมสถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น” นายจิรายุกล่าว
โดยเมื่อช่วงเช้าวันนี้ เวลา 08.25 น. ระดับน้ำบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 1 (ด่านพรมแดนแม่สาย) น้ำลดลงต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มฝนตกลงมาเพิ่มเติม หลายหน่วยงานได้ร่วมกันระดมกำลังเข้าช่วยเหลือ อาทิ กระทรวงแรงงาน เปิดจุดให้บริการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยายนต์ที่ได้รับความเสียหาย และจัดทีมช่างช่วยเหลือประชาชนต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือนตุลาคมนี้ บริเวณตลาดสายลมจอย ข้างสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 เจ้าหน้าที่เร่งระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำออกจากพื้นที่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 67)
Tags: จิรายุ ห่วงทรัพย์, น้ำท่วม, เชียงราย, เชียงใหม่