THAI ลุ้นคลังหนุนคงสภาพธุรกิจเอกชนมุ่งสู่เป้าหมายทวงคืนมาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า การบินไทยเตรียมออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ หลังบรรลุเป้าหมายแผนงานตามขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.37 แสนล้านบาทเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.65 การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจจนทำให้ EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าเครื่องบิน ตั้งแต่ก.ค.66 – มิ.ย.67 เท่ากับ 29,292 ล้านบาท สูงกว่าที่แผนฟื้นฟูกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทในรอบ 12 เดือนย้อนหลัง

แต่ปัจจุบันส่วนของผู้ถือหุ้นตามงบการเงินเฉพาะกิจการ ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 ยังคงติดลบ 40,427 ล้านบาท การบินไทยจึงเร่งดำเนินงานตามแผนปรับโครงสร้างทุนผ่านการแปลงหนี้เป็นทุน 2 ส่วน คือแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุนภาคบังคับ และให้สิทธิแก่เจ้าหนี้เพื่อแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ

รวมถึงจะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลตามที่แผนฟื้นฟูกำหนด ได้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงาน และบุคคลในวงจำกัด (PP) ตามลำดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของทุน และเตรียมพร้อมสำหรับการนำหุ้น THAI กลับเข้าเทรด

ภายหลังการปรับโครงสร้างทุน คาดว่ากระทรวงการคลังจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่สัดส่วนหุ้นจะลดลง เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายอื่น ๆ โดยกระบวนการปรับโครงสร้างทุนจะเสร็จสิ้นภายในปี 67 ก่อนจะแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ คาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อออกจากการฟื้นฟูกิจการและนำหุ้น THAI กลับเข้าเทรดในไตรมาส 2/68

หลังจากนี้ บริษัทจะโรดโชว์ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (ก่อนเข้าแผนฟื้นฟู) ที่มีกระทรวงการคลัง กองทุนวายุภักษ์ ธนาคารออมสิน และนักลงทุนรายย่อย

รอชงเรื่อง มว.คลัง ฟันธงดึง THAI กลับมาเป็น รสก.หรือไม่

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และหนึ่งในผู้บริหารแผนฟื้นฟู THAI ซึ่งเป็นตัวแทนจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อพิจารณาตามแผนปรับโครงสร้างทุน คลังจะถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพราะมีสัดส่วนของเจ้าหนี้ที่มาจากการแปลงหนี้เป็นทุนมากพอสมควร ดังนั้น เมื่อดูตามโครงสร้างแล้วคงเป็นไปได้น้อยที่การบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนแต่ก่อน

แต่ในแง่ของนโยบายของรัฐบาล คงต้องจะพิจารณาถึงผลประกอบการในช่วงที่การบินไทยบริหารแบบเอกชนเต็มตัวพลิกฟื้นธุรกิจกลับมามีกำไร และออกจากแผนฟื้นฟูได้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถแข่งขันกับสายการบินคู่แข่งได้ ดังนั้น สคร. จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะนำการบินไทยจะกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่หลังจากคลังใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุน 100% แล้ว โดยจะหารือกับรมว.คลังอีกครั้ง

“ถ้าดูไทม์ไลน์ที่ว่าธ.ค.นี้ ต้องจบ(กระบวนการปรับโครงสร้างทุนของการบินไทย) เพราะฉะนั้นในช่วงนี้ สคร.จะต้องเสนอข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์เรื่องสัดส่วนต่างๆ เป็น Scenario ให้ท่านรัฐมนตรีพิจารณา” นายพรชัย กล่าว

ด้านนายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า หลังการปรับโครงสร้างทุน คลังและกองทุนวายุภักษ์ จะถือหุ้นราว 45% โดยนอกจากการแปลงหนี้เป็นทุนแล้ว คลังยังมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งถือก่อนเข้าแผนฟื้นฟู 50% ซึ่งหากภาครัฐต้องการดึงการบินไทยกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจก็สามารถเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หลังหุ้น THAI เข้าเทรดแล้ว

“สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้กับหุ้นกู้ เขาก็ต้องคิดดูว่าคุ้มไหมที่จะแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมในราคาหุ้นละ 2.5452 บาท ถ้าหากราคาขายหุ้น ซึ่งมันดีกว่านี้เยอะ ผมว่าเขาก็จะแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมแม้ว่าจะถูก Lock up 1 ปี …ราคาหุ้นที่กำหนดไว้ 2.5452 บาทได้ถูกำหนดปี 64 ตามแผนฟื้นฟูฯปี 64 แผนฟื้นฟูชุดแรก ตอนนั้นสภาพบริษัทมันแย่มาก มันแทบจะล้มละลาย ตอนนี้สภาพมันต่างกันมาก ราคาขายหุ้นเพิ่มทุนก็ควรจะเป็นราคายุติธรรม เป็น Fair Value”

ส่วนการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ยังมีความไม่แน่นอน เพราะต้องรอส่วนที่เหลือจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมเป็นลำดับแรก ถัดมากลุ่มพนักงาน และหากมีส่วนที่เหลือจึงจะนำมาเสนอขายให้กับ PP ซึ่งก็ไม่แน่นอน แต่ได้เจรจากับ PP ไว้ก่อนบ้างแล้วเผื่อไว้หากขายหุ้นเพิ่มทุนไม่หมด

“ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาคิดว่าเราไม่เคยเห็นการบินไทยเปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้ ทั้งในเรื่องการทำงาน การบริหาร การจัดการ เรื่อง network การบริหารจัดการต้นทุนที่ลดลงไปอย่างชัดเจน อย่างให้มั่นใจได้ว่าบริษัทจะมีความยั่งยืนและสามารถสร้างผลกำไรได้ต่อไป”

แปลงหนี้เป็นทุนใน พ.ย. /ขายหุ้นเพิ่มทุนในธ.ค.

นางสาวเฉิดโฉม เทอดสถีรศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายการเงินและการบัญชี THAI กล่าวว่า แผนฟื้นฟูฯกำหนดให้บริษัทต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนรองรับการแปลงหนี้ของเจ้าหนี้ 14,862,369,633 หุ้น ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยกระทรวงการคลัง (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 )จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วน 100%

ในขณะที่เจ้าหนี้สถาบันการเงิน และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้าง 24.50% ของมูลหนี้ โดยเจ้าหนี้สถาบันการเงิน (กลุ่ม 5-6) และผู้ถือหุ้นกู้สามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เงินต้นคงค้างเป็นหุ้นเพิ่มทุนได้เพิ่มตามความสมัครใจ (Voluntary Conversion) จำนวนไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น แต่จะต้องไม่เกินภาระหนี้

อีกทั้ง เจ้าหนี้กลุ่มที่ 4-6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ยังได้รับสิทธิแปลงดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นเพิ่มทุนโดยความสมัครใจเต็มทั้งจำนวน ไม่เกิน 1,903,608,176 หุ้น ไม่สามารถเลือกใช้สิทธิบางส่วนได้

ขณะที่ผู้บริหารแผนได้กำหนดมาตรการ Lock-up ห้ามเจ้าหนี้ที่แปลงหนี้เป็นทุนขายหุ้นจนกว่าจะครบ 1 ปีนับจากวันที่หุ้น THAI กลับเข้าเทรด แต่จะให้สิทธิแบ่งขายได้ไม่เกิน 25% หลังจากวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วเมื่อวันที่ 30 ก.ย.67 คาดว่าจะออกรายงานประเมินมูลค่ายุติธรรมช่วงกลางเดือนต.ค. ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการใช้สิทธิของเจ้าหนี้ในการแปลงหนี้เป็นทุนช่วงเดือนพ.ย.67 และเสนอขายช่วงเดือนธ.ค.67

หลังเพิ่มทุนการถือหุ้นของคลังจะปรับลงมาเป็น 32.9-41.4% จากเดิม 47.9% ธนาคารออมสิน 3.8-5.0% จากเดิม 2.1% กองทุนวายุภักษ์ 2.7-4.0% จากเดิม 7.6% ผู้ถือหุ้นเดิมอื่นๆ ลดลงเป็น 6.5-8.4% จาก 42.4% ส่วนเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูจะเข้าถือหุ้น 24.5-38.4% และส่วนผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงาน และ PP ที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ จะมีสัดส่วน 12.4-19.7%

กลับมาทวงมาร์เก็ตแชร์

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวว่า สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารทางอากาศทั่วโลกเติบโตถึง 2.1 เท่าภายในปี 86 โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตมากที่สุด เติบโต 5.3% ขณะที่ภูมิภาคอื่นโต 2-3% ช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับการบินไทย

บริษัทวางเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) โดยเป็นผู้นำตลาดในประเทศ จากปี 56 เคยมี ส่วนแบ่ง 42% ขณะนั้นมีฝูงบิน 100 ลำ ต่อมาในปี 62 ส่วนแบ่งลดลงเหลือ 37% ทั้งที่มีเครื่องบิน 103 ลำ และในช่วงเข้าแผนฟื้นฟู บริษัทได้ปรับโครงสร้างฝูงบินลดจำนวนเหลือ 70 ลำในปี 66 ทำให้ส่วนแบ่งลดลงมาที่ 27% เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุน

แต่จากนี้จนถึงปี 72 บริษัทจะจัดหาเครื่องบินเข้ามาเป็น 143 ลำ คาดว่าส่วนแบ่งจะเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะกลับมามีส่วนแบ่งเท่าปี 56 ซึ่งปกติสายการบินเจ้าบ้านควรจะมีส่วนแบ่งราว 40-50%

บริษัทได้จัดหาเครื่องบินเพิ่มทั้งลำตัวกว้างและลำตัวแคบ โดยในปี 72 จะมี 143 ลำ เป็นลำตัวกว้าง 91 ลำ (70%) ส่วนลำตัวแคบ 52 ลำ (30%) จากนั้นเพิ่มเป็น 150 ลำในปี 76 ในจำนวนนี้ 118 ลำจะเป็นเครื่องบินใหม่ แบ่งเป็นลำตัวกว้าง 66 ลำ ลำตัวแคบ 52 ลำ

แต่ในระหว่างนี้การบินไทยจะจัดหาเครื่องบินนำมาใช้ชั่วคราวก่อน ได้แก่ โบอิ้ง B777-300ER และแอร์บัส A330-300 ซึ่งหากผู้ผลิตเครื่องบินไม่สามารถส่งมอบได้ตามแผน บริษัทก็จะชะลอการปลดระวางเครื่องบินเก่า

ปัจจุบัน การบินไทยมีจำนวนเครื่องบิน 77 ลำก อายุเฉลี่ย 9.3 ปี มีจุดบิน 62 จุดใน 27 ประเทศ มีเที่ยวบิน 803 เที่ยวบิน/สัปดาห์

ขณะเดียวกันการบินไทยจะมุ่งเป็นสายที่ให้บริการแบบเครือข่าย (Network Airline) ที่จะสามารถสร้างรายได้ผู้โดยสารต่อหน่วย (yield) และการเชื่อมต่อเครื่องข่ายเส้นทางได้แข็งแกร่ง โดยจะขยายเครื่องข่ายเส้นทางบินระยะสั้นเพื่อสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางหลักเชื่อมต่อเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกับกรุงเทพ

นอกจากนี้การบินไทยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนช่องทางการขายโดยตรงเองมากขึ้น และลดช่องทางการขายผ่านเอเย่นต์แบบออฟไลน์ และเพิ่มช่องทางขายเอเย่นต์ออนไลน์ รวมถึงปรับปรุงแอปพลิเคชั่นมือถือให้ใช้ได้ง่ายขึ้น

นายชายยังกล่าวว่า การบินไทยมีแผนลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและหารายได้เพิ่มเติม และทำให้เป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับภูมิภาค ที่ให้บริการฝูงบินบริษัทและสายการบินอื่น

ปัจจุบัน การบินไทยมีศูนย์ซ่อมอากาศยาน 2 แห่ง คือที่ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

นายชาย คาดว่า ในปี 67 บริษัทมีรายได้จากผู้โดยสาร 1.8 แสนล้านบาท เท่ากับรายได้จากผู้โดยสารในปี 62 หรือก่อนโควิด โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมามีรายได้ 9 หมื่นล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,