FITCH ชี้การเติบโตเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก-ระดับหนี้สินสูง

นักวิเคราะห์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระบุว่า ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชียและปรับตัวด้อยลงในด้านการคลังของรัฐบาล (public finance) แม้ว่าด้านหนี้สินต่างประเทศ (external finance) จะยังคงเป็นจุดแข็งที่สำคัญ

ฟิทช์ จัดงานสัมมนาประจำปีในวันนี้ ประกอบด้วยการนำเสนอและการสนทนาที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและธนาคารในประเทศไทยและประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย งานเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงาน โดยนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ซึ่งให้ภาพรวมเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจและมาตรการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของไทย

จากนั้นมีการนำเสนอเกี่ยวกับการจัดสรรสินทรัพย์และแนวโน้มการลงทุนโดย นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งได้วิเคราะห์ความท้าทายในการลงทุนภายใต้สภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน

ขณะที่นายโทมัส รูคมาเกอร์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้นำเสนอเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยได้กล่าวว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกคาดว่าจะชะลอตัวเล็กน้อยในปี 2568 มาอยู่ที่ 2.5% จาก 2.7% ในปี 2567 ซึ่งยังคงสอดคล้องกับแนวโน้มในอดีต อัตราการว่างงานกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (advanced economies) ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสามารถผ่อนคลายนโยบายการเงิน ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียบางประเทศสามารถดำเนินนโยบายทางการเงินที่คล้ายกันได้

ความเสี่ยงที่อาจมีผลกระทบต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) และการเพิ่มขึ้นของนโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้

การใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยนั้น โดยทั่วไปยังคงมีความล่าช้ากว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น อัตราส่วนหนี้สินสาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2562 และคาดว่าการขาดดุลงบประมาณ (fiscal deficit) น่าจะยังคงอยู่สูงกว่า 4% ของ GDP ในปี 2568 โดยฟิทช์คาดความนโยบายต่างๆ ยังคงมีความต่อเนื่องหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล

ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถจัดหาเงินทุนสำหรับการขาดดุลได้ในต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอื่นในภูมิภาค และยังมีระดับหนี้สินต่างประเทศเป็นจุดแข็ง

ในหัวข้อสุดท้ายเป็นการนำเสนอแนวโน้มการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียโดย นายพาสันติ์สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสถาบันการเงินของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินงานของธนาคารในภูมิภาคเอเชียนั้นมีความแตกต่างกัน โดยที่ธนาคารในประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (emerging market) มีแนวโน้มการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมากกว่าธนาคารในประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed market)

สำหรับประเทศในตลาดเกิดใหม่ ฟิทช์ คาดว่าธนาคารในประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์จะมีผลประกอบการที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง สำหรับธนาคารไทยนั้นผลประกอบการได้ฟื้นตัวขึ้นแล้วอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงการแพร่ระบาดของโควิด และความเสี่ยงได้มีการปรับตัวลดลงไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารไทยยังคงต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระยะสั้น และความท้าทายด้านกลยุทธ์การเติบโตและการแข่งขันในระยะยาว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ต.ค. 67)

Tags: , , , ,