THAI ยิ่นไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุน 14,733 ล้านหุ้นคาดเคาะราคาสุดท้ายปลายต.ค.-ต้นพ.ย.

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย (THAI) ยื่นข้อมูลการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อการปรับโครงสร้างทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการโดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822,473,626 หุ้น รวมกับหุ้นที่เหลือจากการใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมเป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้ (Voluntary Conversion) ไม่เกิน 4,911,236,813 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท เพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนและพนักงานของการบินไทยตามที่ระบุในแผนฟื้นฟูกิจการ

ราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนที่เป็นราคาสุดท้ายคาดว่าจะสรุปได้ในปลายเดือนต.ค. หรือต้นพ.ย.นี้ โดยในช่วงกลางเดือนต.ค.จะมีช่วงราคาเสนอขายจากที่ปรึกษาการเงินอิสระ (IFA) จากนั้นจะให้ผู้ถือหุ้นเดิมเป็นกลุ่มแรกจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน ถัดมาเปิดให้พนักงานจองซื้อภายในเดือนพ.ย. และหากยังเหลือจะนำไปเสนอขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรใหม่ไม่น้อยกว่า 5 ราย ที่มีทั้งสายการบิน และนักลงทุนสถาบัน

ทั้งนี้ การบินไทย จะขายหุ้นเพิ่มทุน 9,822 ล้านหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม พนักงาน และนักลงทุนเฉพาะเจาะจง(PP) ในราคาสูงกว่า 2.5452 บาท/หุ้น

“กำลังประเมินมูลค่าหุ้นจากหลายๆ ที่ปรึกษาการเงินที่จะมาจาก 4 ส่วนได้แก่ ที่ปรึกษาของการบินไทย , IFA ที่ประเมินมูลค่าหุ้นให้กับเจ้าหนี้ที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพิ่มเติม, ที่ปรึกษาการเงินจากภาครัฐ และ การประเมินมูลค่าหุ้นจาก PP ที่เรากำลังพูดคุย ตอนนี้ก็อยู่กระบวนการทั้ง4 ที่ปรึกษาเพื่อจะหาตัวเลขที่เป็น Fair Value เพื่อให้ผู้บริหารแผนตัดสินใจว่าจะใช้ราคาหุ้นตัวไหน จะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในราคาเดียว”นายชาย กล่าว

ขณะเดียวกัน บริษัทก็ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูเพื่อขอลดทุน ศาลล้มละลายได้นัดวันที่ 8 พ.ย.67 โดยจะล้างขาดทุนสะสมเพื่อบริษัทสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นใหม่ได้โดยไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจะทำให้หุ้นการบินไทยน่าสนใจมากขึ้น

ทั้งนี้ กระบวนการการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับทุกกลุ่มจะเสร็จสิ้นในภายใน 31 ธ.ค.67 จากนั้นบริษัทจะเตรียมยื่นออกจากแผนฟื้นฟูที่จะใช้งบการเงินปี 67 ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บริษัทจะต้องยื่นงบการเงินงวดปีอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือน ก.พ.68 จากนั้นต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นใหม่หลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นคาดว่าจะเป็นช่วงต้นเดือน เม.ย. 68 หรือไม่เกินกลางเดือนเม.ย.68 เพื่อแต่งตั้งกรรมการบริษัทชุดใหม่ เป็นเงื่อนไขหนึ่งของความสำเร็จแผนฟื้นฟูกิจการ

บริษัทคาดว่าจะยื่นขอออกจากแผนฟื้นฟูฯ ในเดือนพ.ค.68 เชื่อว่าศาลจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนหรือ 1 เดือนครึ่งในการพิจารณา ไม่น่าจะเกินเดือน มิ.ย.68 และคาดว่หุ้น THAI จะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งหนึ่งภายในมิ.ย.68

“จากการพูดคุยเจ้าหนี้ ภาครัฐ รวมถึงกระแสสังคมไทย ผมพยายามรับกระแส คำตอบรับหลายๆภาคส่วน ก็ยังไม่มีใครที่จะให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ ข้อดี ข้อด้อยข้อเสีย ผมว่าไม่คุ้มกับการที่เราจะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะเราได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว 4 ปีจากการเข้าแผนว่าบริษัทสามารถขับเคลื่อน มีความคล่องตัวมากกว่า มุมมองธุรกิจมากกว่า พนักงานเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง การทำงานทำได้เร็วขึ้น กล้าตัดสินใจมากขึ้น ผมว่าไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ” นายชาย กล่าว

เปิดไฟลิ่งขายหุ้นเพิ่มทุนขยายฝูงบิน-MRO

THAI ระบุว่าจะนำเงินจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนไปใช้

1. จัดหาเครื่งบินเพื่อสนับสนุนการขยายเครือข่ายเส้นทางบินรองรับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

2. ปรับปรุงห้องโดยสารเครื่องบิน (Retrofit) โดยมีแผนติดตั้งที่นั่งใหม่ WiFi และสิ่งอำนวยความสะดวกมาตรฐานระดับโลกสำหรับการให้บริการบนเครื่องบิน เป็นต้น เพื่อพัฒนาการบริการบนเครื่องบิน (In-flight services)

3. พัฒนาโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO Centers) ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการแก่สายการบินอื่น ๆ และมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคอาเซียน

4. เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ

ปัจจุบันบริษัทมีจำนวนเครื่องบิน 77 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวกว้าง 57 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และมีเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 59 จุดบินใน 24 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งเป็น 51 จุดบินในต่างประเทศ และ 8 จุดบินภายในประเทศ

ณ วันที่ 30 มิ.ย.67 บริษัทมีหนี้สินรวม 310,956.2 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ยืมและหุ้นกู้ตามแผนฟื้นฟูฯ 82,385.1 ล้านบาท และหนี้สินตามสัญญาเช่า (เช่าเครื่องบิน) รวม 101,232.7 ล้านบาท รวมถึงภาระผูกพันที่ต้องจ่ายในอนาคตตามสัญญาเช่าเครื่องบินที่อยู่ระหว่างการส่งมอบรวม 1,549 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสัญญาจัดหาเครื่องบินที่อยู่ระหว่างรอการรับมอบ 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขยายฝูงบินเติบโตปีละ4%

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THAI กล่าวว่า บริษัทมองแผนการเติบโตระยะยาวไปแล้ว จากการจัดหาฝูงบินระยะยาว โดยมองว่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคจะเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบอีก 20 ปีข้างหน้า ย้อนกลับไปในปี 61-62 การบินไทยมีเครื่องบิน 103 ลำ ณ วันนั้นเป็นเครื่องบินก็เก่า แต่บริษัทได้ขยายฝูงบินแผนระยะยาว 72 บริษัทจะมีเครื่องบิน 143 ลำ

“เราจะโตจากปี 2019 (2562) ในอีก 10 ปี คือปี 2029 (2572) เติบโตเฉลียปีละ 4% กว่า ซึ่งไม่ได้เยอะเลยถ้าเทียบกับการเติบโตของอุตสาหกรรม และถ้าเราไม่โตจากปัจจุบันแสดงว่าเราถอยหลัง เพราะตลาดโตหมด สายการบินอื่นโตหมด แต่การบินไทยอยู่กับที่ เพราะฉะนั้นอำนาจการแข่งขันของเราก็จะด้อยลง”

“ถ้าการบินไทยอยู่กับที่ ทาง Finanical Projection เราไม่มีทางจะหากระแสเงินสดมาชำระให้กับเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูถึงแม้เราจะออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว ยังมีภาระที่เราต้องปฏิบัติตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งการบินไทยจะต้องชำระหนี้ไปจนถึงปี 2036 หรืออีก 12 ปีข้างหน้า รวมจำนวน 1.2 แสนล้านบาท ดังนั้นถ้าอยู่ด้วยไซส์เดิม ก็จะไม่มีกระแสเงินสดจ่ายให้กับเจ้าหนี้ได้”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 67)

Tags: , , , , ,